Everest Marathon ประเทศ Nepal เป็นงานมาราธอนที่อยู่สูงที่สุดในโลกใบนี้ เป็นทริปที่ตั้งใจจะไปตั้งแต่ปี 2020 แต่เลื่อนแล้วเลื่อนอีก จนสุดท้ายก็ defer จนมาลงเอยในปี 2022 เป็นทริป 20 วัน รวมโรงแรมใน Kathmandu 4 คืน ที่พักบนเขาระหว่าง hiking 13 คืน และอีก 2 คืนเป็นการนอนเต็นท์ โดยจะเป็นการค่อยๆ ไต่ระดับความสูงจาก Lukla เป็นเวลา 12 วัน ไปจนถึง EBC (Everest Base Camp) เพื่อให้ร่างกายปรับสภาพให้ชินกับความสูงและปริมาณอ็อกซิเจนที่ลดลง
เส้นทางวิ่งของ Everest Marathon (ระยะ 42K) เริ่มจาก EBC วิ่งข้ามธารน้ำแข็ง Khumbu ไปที่ Gorakshep ช่วงแรกจะเป็นส่วนที่ยากที่สุดของเรซ เพราะเป็นพื้นผิวหิมะและน้ำแข็ง ประกอบกับปริมาณอ็อกซิเจนที่น้อย ผ่าน 5K แรกมาได้ก็จะเป็นทางเหมือนวิ่ง trail จนมาถึงระยะ half ที่ Dingboche ก็น่าจะเริ่มสบายขึ้นด้วยปริมาณอ็อกซิเจนเยอะขึ้น ทำให้เหนื่อยน้อยลง อีก highlight คือการวิ่งข้ามสะพานแขวนข้าม Imja River แล้วจากนั้นจะเป็นทาง trail แบบชันๆ ขึ้นไปที่ Tengboche Monastery ก่อนที่จะลงไปที่ Syangboche เพื่อเข้า finish line ที่ Namche Bazaar
Everest Marathon จัดขึ้นทุกวันที่ 29 พฤษภาคม เป็นวันครบรอบการพิชิตยอดเขา Everest ครั้งแรกของมนุษย์ ในปี 1953 โดย Tenzing และ Hillary จึงตั้งชื่องานอย่างเป็นทางการว่า Tenzing-Hillary Everest Marathon ทางผู้จัดได้ส่ง checklist ของที่ต้องเตรียมไป และให้กระเป๋ามา 1 ใบสำหรับให้เราลองแพ็คของ เราจะต้องเตรียมของทุกอย่างไม่เกิน 15 kg ให้ฟิตลงในกระเป๋านี้ ซึ่งเป็นกระเป๋าที่ลูกหาบจะแบกขึ้นไปให้ ส่วนเราจะ hike ขึ้นไปกับเป้สะพายหลังใบเดียว ก่อนไปเลยต้องเอาทุกอย่างมากาง ลองแพ็คใส่กระเป๋า ชั่งน้ำหนัก ตัดสินใจให้ชัดเจนว่า ชิ้นไหนได้ไป ชิ้นไหนไม่ได้ไป ไปแล้วจะอยู่กระเป๋าไหน ลืมอะไรอีกบ้าง ต้องเตรียมอะไรอีกบ้าง
วันแรกของการเดินทาง มาถึงสนามบิน Kathmandu ช่วงเช้า เป็น visa on arrival ใครจะมาแนะนำให้กรอกข้อมูลออนไลน์มาก่อน มาถึงก็เลี้ยวไปจ่ายเงินค่าวีซ่า แล้วเข้าแถว ตม. ได้เลย ใช้เวลาไม่นาน รับกระเป๋าออกมาจากสนามบินก็มีเจ้าหน้าที่ของ Everest Marathon มารับ คล้องผ้าพันคอให้ พาไปโรงแรม ทานอาหารเช้า แล้วเลือกได้ว่าอยากนอนพักหรือเข้าไปเที่ยวในเมืองกับนักวิ่งกลุ่มที่มาถึงเมื่อวาน ซึ่งจริงๆ ก็เหนื่อย แต่เรื่องเที่ยวเราไม่หวั่น
จุดแรกวันนี้คือ Swayambhu Mahachaitya หรือ เรียกว่า monkey temple เพราะเป็นวัดที่มีลิงอยู่เยอะ วันนี้บังเอิญตรงกับวันวิสาขบูชาพอดี คนที่นี่ก็ฉลอง Buddha Birthday กันคึกคักเป็นพิเศษ เพิ่มอัตราเสี่ยงการติดโควิดให้ตัวเองอีก จากนั้นพามาต่อที่ Hanuman-Dhoka Durban Square เป็นพระราชวังโบราณที่เสียหายพังยับเยินจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อปี 2015 จนบัดนี้ก็พยายามบูรณะซ่อมแซม แต่ก็ไม่มีทางทำให้เหมือนเดิมได้
ช่วงบ่ายกลับมาที่โรงแรมเพราะมี orientation สำหรับนักวิ่ง แบ่งกลุ่ม อธิบายเรื่องเส้นทาง แนะนำไกด์และแพทย์ประจำกลุ่ม ทุกคนจะได้รับ race package มีกระเป๋าที่สำหรับแพ็คของให้ฟิต 15 kg ที่จะบินไปลงที่ Lukla พรุ่งนี้ บิบ เสื้อวิ่งที่บังคับใส่ จะได้แยกออกว่าใครเป็นใครระยะไหน เสื้อแจ็คเก็ต และเสื้อโปโลเชิ้ต
เราใช้เวลาทั้งบ่ายแพ็คของใหม่ทั้งหมด อะไรที่ต้องเอาไป แต่ไม่สามารถยัดลง 15 kg ได้ เราก็จะสวมทับๆ กันไปหลายๆ ชั้น ห้อยโน่น ห้อยนี่ไปให้มากที่สุด แล้วก็เช็คอินกับสายการบินแบบนั้น พอผ่านเข้าไปข้างในค่อยถอดออกแล้วยัดกระเป๋า อันนี้คือทริคที่ไกด์บอกมา…
ตื่นเต้นมาก ซัด diamox ไปครึ่งเม็ดแล้วรีบนอน (diamox คือยาที่กินเพื่อป้องกัน altitude sickness)
ตื่นประมาณตีสี่ เพื่อไปสนามบิน ไกด์บอกให้พยายามไปเช้าที่สุดเพื่อจะได้ไฟลท์แรกของวัน เพราะปกติถ้าไฟลท์บินไม่ได้ ก็จะเลื่อนไปเรื่อย แล้วคิว waiting list จะยาว วันนี้การเดินทางราบรื่นดี ไฟลท์บินจาก Kathmandu ใช้เวลาเพียง 27 นาที ก็มาถึง Lukla รันเวย์ของสนามบิน Lukla สั้นมาก เครื่องขาลงถ้าเบรคไม่ทันก็ชนเขา เครื่องขาออกถ้าขึ้นไม่ทันก็ตกหน้าผา คนที่ Lukla บอกว่าเราเป็นไฟลท์แรกใน 3 วันที่มาถึง เพราะ 2-3 วันก่อนหน้านี้หมอกลงจัด ไฟลท์มาไม่ได้ แผนการเดินทางของทริปจึงต้องมี buffer ไว้ 2-3 วันหน้าหลัง เพื่อปรับเปลี่ยนแพลน คนที่เปลี่ยนแพลนไม่ได้ก็อาจจะต้องนั่งรถบัสหรือจ้างเฮลิคอปเตอร์พิเศษเอา
พวกเรานั่งจิบกาแฟรอ จนทุกไฟลท์มากันครบ แบ่งกระเป๋าจับคู่เพื่อให้ลูกหาบนำกระเป๋าล่วงหน้าไปก่อน เราเริ่ม trek จาก Lukla เป็นทางขึ้นที่ไม่ค่อยชันเท่าไหร่ หลังจากผ่านแม่น้ำ Tarhe Khosla เห็นวิวของยอด Kusum Kangru (6,369 เมตร) พวกเราข้ามสะพานแขวนสั้นๆ มาที่ Ghat Village แล้วก็ทานอาหารกลางวันที่นั่น อาหารส่วนใหญ่ก็แบบบ้านๆ เน้นคาร์บ ไม่รู้ว่าเพราะเราหิวหรือเค้าทำอร่อยจริง กินหมดเกลี้ยงแถมยังขอเติมอีก
หลังทานอาหารเสร็จก็ได้เวลาเดินทางกันต่ออีกประมาณ 1 ชั่วโมงกว่าๆ ก็มาถึงที่พักใน Phakding Village รวมระยะทางเดินวันนี้ประมาณ 7.2 km ขึ้น 180 เมตร ลง 512 เมตร ที่พักวันนี้เป็นแบบเรียบง่าย ซึ่งวันต่อๆ ไปก็น่าจะเรียบง่ายมากกว่านี้ แค่นี้ก็ถือว่าหรูมากแล้วสำหรับที่ไกลปืนเที่ยงแบบนี้
From Lukla to Phakding
หลังจากทานอาหารเช้าเสร็จ ก็ออกเดินทางต่อ วันนี้จะเป็นการ trek แบบจริงจัง 8 ชั่วโมง ช่วงเช้าผ่านเนินขึ้นๆ ลงๆ อยู่พักนึง ก็เห็นวิวของ Thermasarkhu (6,608 เมตร) เริ่มรู้สึกว่ามีคนมาเดิน trek กันเยอะมากๆ ทั้งชาวบ้าน ลูกหาบ และสัตว์ที่ใช้แรงงานต่างๆ ก็แชร์เส้นทางเดินแคบๆ ร่วมกัน ต้องหลบและให้ทางกันอยู่เรื่อยๆ ช่วงก่อนถึงหมู่บ้าน Monjo จะมีความคึกคักเป็นพิเศษ แดดแรงมากๆ นะ ใครจะมานี่บอกเลยว่าให้โบก sunblock หนาๆ เลย ส่วนตัวไม่ได้ห่วงเรื่องดำเลย แต่มันแสบมากๆ นี่รู้สึกขอบคุณหมวกคนตัดอ้อยจริงๆ คิดถูกมากๆ ที่ซื้อมา
เรามาถึงทางเข้า Sagarmatha National Park ไกด์บอกว่าหลังจากข้ามสะพานแขวน 3 สะพาน เราจะได้ทานมื้อเที่ยง ซึ่งจำไม่ได้จริงๆ ว่าผ่านมากี่สะพานแล้ว แต่มื้อกลางวันนี้อร่อยมากๆ หน้าตาดูไม่ค่อยน่ากินนะ เอาจริงๆ คืออาหารอร่อยทุกมื้อเลย สงสัยหิว ประกอบกับผงชูรสถึงขั้น ซึ่งก็โอเคแหละ กินโซเดียม จะได้ไม่เป็นตะคริว
ช่วงบ่ายได้ข้ามสะพาน Hillary Bridge ซึ่งเป็นสะพานแขวนที่มีชื่อ ทุกคนก็ได้ภาพเดี่ยว ภาพหมู่กันกันไปครบ จากนั้นเป็น uphill แบบโหดๆ อีกเกือบ 2 ชม. จนมาถึง Namche Bazaar ซึ่งเป็นเสมือนสวรรค์บนเส้นทาง EBC ที่นี่มีหมด ผับ บาร์ ร้านนวด ร้านตัดผม และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ใครขาดเหลืออะไรก็หาซื้อได้ที่นี่ โรงแรมที่เราพักได้วิวจากมุมบนของแอ่งกะทะ เห็นเขาสูงรอบด้าน เห็นธารน้ำแข็งด้วย ทุกอย่างที่นี่เป็นเงินเป็นทอง จะอาบน้ำอุ่น จะซักผ้า จะชาร์จมือถือ ต้องจ่ายหมด เตรียมเงินมาเยอะๆ จะสบาย ใช้จ่ายแบบราชา
เนื่องจากเมื่อวานเรา hike ขึ้นมาค่อนข้างสูง วันนี้จึงให้ทุกคนพัก เพื่อปรับสภาพร่างกายให้คุ้นเคยกับบรรยากาศ ตอนเช้าหลังจากทานอาหาร เราเดินไปจุดชมวิวซึ่งสามารถเห็นยอด Everest ได้ (แต่ไม่เห็นเพราะวันนี้เมฆเยอะ) ก็เลยเข้า Everest Museum ดูข้อมูลต่างๆ ซึ่งก็ทึ่งในความพยายามของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนโบราณ ซึ่งไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือและวิวัฒนาการมากเท่าวันนี้
จากนั้นเราไกด์พาเรา hike เบาๆ ขึ้นไป แล้วให้ลองวิ่งกลับลงมา เพื่อเป็นการทดสอบว่าร่างกายโอเคมั้ย… เอ๊ะแล้วไหนบอกวันนี้วันพัก
ตอนเที่ยงเราไม่ได้กินอาหารในโรงแรม แต่แอบออกมาเดินเล่นในเมือง เจอร้านอาหารกึ่งผับร้านนึง ก็เลยเดินเข้าไป อาหารค่อนข้างนาน แต่เจ้าของเป็นนักดนตรี ก็เลยมีโอกาสแจมกันเล็กน้อยระหว่างรออาหาร เค้าบอกว่าร้านนี้เป็น live music bar ที่อยู่สูงสุดในโลก! พวกเราเดินเล่นในเมืองกันเพลิน ซื้อของกันสนุกมาก เพราะราคาถูก ใครอยากมา hike มาซื้ออุปกรณ์เอาที่นี่ก็ได้ ไม่ต้องแบกมาให้เหนื่อย มีทุกอย่าง เดินไปเดินมาเจอร้านตัดผม ก็เลยตัดผมมันซะเลย ถือว่าได้มาตัดผมที่สูงสุดในโลก
From Phakding to Namche
หลังจากวันพักแบบชิวๆ ใน Namche Bazaar วันนี้เรา hike ขึ้นแบบชันๆ เพื่อไปที่ Khumjung Village เป็นหมู่บ้าน Sherpa ที่ใหญ่ที่สุดในแคว้น Khumbu หันกลับลงไปดู Namche คือเหวอมากๆ เราเดินขึ้นมา 1.5 ชั่วโมงได้สูงขนาดนี้ มันชันมากๆ เลยนะ โชคดีที่ในกลุ่มไม่มีใครเป็น altitude sickness เลย… ปีนต่อขึ้นไปอีกครึ่งชั่วโมงยิ่งเหวอหนัก ตอนที่ไกด์ชี้ให้ดูหมู่บ้าน Monjo ที่เราแวะทานข้าวเมื่อ 2 วันก่อน คือเป็นจุดขาวๆ ไกลๆ ตรงหุบเขาข้างล่าง ซึ่งไกลมากๆ
ระหว่างทางเราผ่านสนามบิน Syangboche ซึ่งถ้าไกด์ไม่ชี้ให้ดู จะไม่รู้เลยว่าเป็นสนามบิน เพราะมันเหมือนทางเทรลเรียบๆ ยาวแค่ 200 เมตร แล้วถ้าเครื่องไม่บินขึ้นก็หล่นหน้าผาไปเลย ที่ยอดเขา เราแวะ Hotel Everest View เป็นโรงแรมหรูที่เห็นวิวยอด Everest (แต่วันนี้เมฆบังอีกแล้ว ยังไม่ได้เห็นซะที) มีที่จิบกาแฟ outdoor มีห้องอาหารที่มีเปียโน (เอาขึ้นมาได้ยังไง)
เราข้ามมาอีกฝั่งของเขาลูกนี้ เป็นการเดินลง เราเดินต่ออีกไม่นาน ก็ถึงที่พักของเราใน Khumjung Village เป็นที่พักแบบเรียบง่ายเช่นเคย ด้วยความสูงที่เราขึ้นมาเรื่อยๆ อากาศเริ่มเย็นจนใกล้จุดเยือกแข็ง แม้ในเวลากลางวัน ตอนนี้เสื้อผ้าที่เอามา ก็ใส่ทับๆ กันเข้าไป
ทุกอย่างที่นี่เป็นเงินเป็นทอง ซึ่งมองอีกแง่มุมนึง เราก็ควรจะให้พวกเค้า เพราะการท่องเที่ยวเป็นสิ่งเดียวที่พวกเค้าจะสามารถทำรายได้แบบชนิดที่เพียงพอจะเลี้ยงปากท้องคนในครอบครัวได้ ยกตัวอย่างสิ่งที่เราจ่าย…
- น้ำดื่ม 100 รูปี
- ขอชาร์จมือถือให้เต็ม 300 รูปี
- ใช้ Wi-Fi 300 รูปี
- อาบน้ำอุ่น 500 รูปี
- ซักเสื้อ 1 ตัว 150 รูปี
ช่วงบ่ายวันนี้ปล่อยให้พักผ่อนอิสระ ถ้าใครอยากเดินเล่นในหมู่บ้าน ไกด์ก็พาไปดูโรงเรียน วัด ฯลฯ แต่นี่แอบนอน ตื่นขึ้นมาเลยเดินมาร้าน bakery ใกล้ๆ ที่พัก เพื่อมากินกาแฟ 300 รูปี และได้ใช้ Wi-Fi ฟรี… ถือว่าเป็นการใช้เงินอย่างชาญฉลาดใช่มั้ย
อากาศตอนเช้าวันนี้ติดลบแล้วล่ะ เมื่อคืนเอาถุงนอนดักแด้มาลองนอน ใช้ได้เลยทีเดียว… ไกด์บอกว่าเส้นทางวันนี้จะได้เห็น Everest, Nuptse, Lhotse และ Ama Dablam (ถ้าเมฆไม่บัง) คือไอ้คำว่าถ้าอากาศดี เมฆไม่บังเนี่ย พูดมาหลายวันละ
ขณะที่เราเราเดินออกมาจาก Khumjung ภาพที่เห็นตรงหน้าคือความยิ่งใหญ่ของ Thamserku (6,608 เมตร) และ Ama Dablam (6,812 เมตร) โชคดีมากที่วันนี้ฟ้าเปิด แต่แดดก็แรงอยู่ วันนี้หมวกคนตัดอ้อยเลยได้ออกโรงอีกครั้ง
เราพักทานมื้อกลางวันที่ Phungitenga แถวนี้มีร้าน tea house อยู่หลายร้านริมน้ำ Imja Tse ได้เห็นวิวของสะพานแขวน Dudha Koshi
ช่วงบ่ายเป็นการ hike ขึ้นแบบ uphill อีก 2 ชม เพื่อไปที่ Tengboche ซึ่งนับเป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่สวยที่สุดใน Nepal สิ่งแรกที่เราเห็นคือ monastery (วัด) ที่ใหญ่มากๆ วันนี้ทางผู้จัดมีกิจกรรมร่วมกับทางวัดให้เราปลูกต้นไม้คนละต้นตามไหล่เขา เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวมาเดิน trekking เยอะขึ้นทุกปี ทำให้สัตว์ต้องคอยหลบคน แต่ต้นไม้ไม่พอกับจำนวนสัตว์ที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ก็เลยให้เราปลูกต้นไม้ หวังว่าถ้าคราวหน้าเรากลับมาต้นไม้น่าจะเป็นพุ่มใหญ่ ต้นไม้ที่พวกเราปลูกวันนี้คือต้น Rhododendron ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำชาติของ Nepal
เราเดินต่ออีกประมาณครึ่งชั่วโมงผ่านป่าสน ก็มาถึงที่พักของเราวันนี้ที่ Deboche
ยังเหลืออีก 8 วันกว่าจะถึง race day… มานั่งคิด นี่เป็นเรซที่ต้องใช้ความพยายามมากที่สุดเลยจริงๆ เพราะกว่าได้วิ่ง ใช้เวลาถึง 2 สัปดาห์เต็มในการปีนป่ายขึ้นไปถึงจุด start ที่ Everest Base Camp ตอนนี้รู้สึกขอบคุณที่มีความพยายามพาตัวเองมาอยู่ ณ จุดนี้ เป็นอีกหนึ่งกำไรชีวิตจริงๆ
ทุกคนที่อยู่ในกลุ่มมาจากหลากหลายที่ บางคนก็เคยไปเรซต่างๆ มาด้วยกัน ทุกคนมีเป้าหมายไปวิ่งในประเทศต่างๆ เหมือนกัน ไม่มีใครคุยเรื่อง world major กันเลย เพราะมันช่างดูธรรมดา เหมือนของโหลไปซะแล้ว เกินครึ่งของคนที่นั่งทานมื้อเย็นด้วยกันบนโต๊ะนี้เป็น six star finisher ไปกันหมดแล้ว คนในกลุ่มเราคุยกันแต่ Polar Circle, Patagonia, Antarctica, Itaq, Palestine, North Korea, Big Five หรืออะไรแปลกๆ ที่คนเค้าไม่ค่อยไปกัน รู้สึกว่าถูกจริต เหมือนเราคุยภาษาเดียวกัน ศีลเสมอกัน แล้วคิดว่าในอนาคตก็คงได้ไปเจอกันอีกในเรซแปลกๆ ซักที่แน่นอน
เช้านี้ตื่นขึ้นมาได้เห็นยอด Everest อยู่ด้านหลัง Nuptse ไกด์แจก mask ให้ทุกคน ไม่ใช่ป้องกันโควิดนะ แต่เพราะทางที่เราจะ hike วันนี้จะมีฝุ่นเยอะ ก็เลยไม่อยากให้หายใจฝุ่นเข้าไป ระหว่างที่เราค่อยๆ hike สูงขึ้นเรื่อยๆ ก็เริ่มเห็นภูมิประเทศที่เปลี่ยนไป เห็นนกแปลกๆ เห็นแพะภูเขา เห็นรอยครูดบนภูเขาของธารน้ำแข็งโบราณ
เราผ่านหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อ Pangboche สามารถแวะซื้อน้ำและขนมได้ ราคาถูกกว่า Deboche ที่เรานอนเมื่อคืน ซึ่งไม่มีร้านค้าเลย ทุกอย่างที่ซื้อกับโรงแรมราคาแพงกว่าปกติ 2-3 เท่า… ก็ตามกลไกตลาดนั่นแหละ เป็น monopoly ได้จะตั้งราคาเท่าไหร่ก็ได้ตราบที่ยังมี demand
ระหว่างเส้นทาง hike ไป EBC เราจะเห็นกองหินหรือสถูปกลางทางเดินอยู่บ่อยๆ เค้าเรียกว่า Money Rock จะเป็นหินแกะสลักอักษรเนปาล คล้ายๆ ศิลาจารึกนั่นแหละ เดาว่าเป็นบทสวดหรือคำสอนทางพุทธศาสนา คนท้องถิ่นมีความเชื่อว่าให้เดินวนไปทางซ้าย เพราะถ้าวนขวาจะโชคร้าย จริงๆ ก็คงเป็นแค่อุบาย เพราะเส้นทางนี้ทั้งคนเดิน นักปีนเขา ลูกหาบ วัว ม้า ลา แย็ก ก็ต้องแบ่งเส้นทางกัน ถ้ากำหนดแบ่งเลนกันได้ก็จะมีระเบียบ ไม่ชนกัน
ผ่านไปประมาณ 3 ชั่วโมง เราแวะทานอาหารกลางวัน แล้วฝนก็เทลงมา สภาพอากาศที่นี่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ในหนึ่งวันมีครบเกือบทุกฤดู ทั้งแดด ลม ฝน… แต่ฝนก็ไม่อาจหยุดยั้งความพยายามของพวกเราได้ เราสวมเสื้อกันฝน ผ้าใบคลุมเป้ แล้วออกเดินทางกันต่อ อากาศเริ่มหนาวจัด ก็ต้องงัดเสื้อผ้าที่มีทั้งหมดมาใส่ทับๆ กัน ผ้าพันคอ ที่คลุมหู อะไรที่แบกมาก็ได้เอาออกมาใช้หมด เมื่อขึ้นสูงไปเรื่อยๆ ฝนก็ได้เปลี่ยนเป็น sleet (หิมะเกล็ดเล็ก) นอกจากเราต้องต่อสู้กับสภาพอากาศแล้ว ยังต้องต่อสู้กับความสูง ด้วยปริมาณอ็อกซิเจนที่ลดลง อาการของ altitude sickness ก็เริ่มแสดงให้เห็นแล้ว โดยเริ่มปวดหัวนิดๆ เป็นๆ หายๆ แต่ว่าเรากินยาป้องกันมาก่อน ก็เลยไม่แย่เท่าไหร่ ยาที่กินป้องกัน altitude sickness จะมีผลข้างเคียงบ้าง เช่น กระหายน้ำ รู้สึกชาที่ปลายนิ้ว แต่โดยรวมแล้ว ก็ถือว่ายังเอาอยู่ แพทย์ประจำกลุ่มบอกว่าให้พยายามดื่มน้ำเยอะ และทาน snack เป็นระยะๆ การที่เราขึ้นที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ร่างกายเราจะไม่อยากกิน แต่เราต้องพยายามกิน ทั้งอาหารและน้ำ ถ้าดื่มน้ำแล้วฉี่ได้บ่อยๆ คือดี… สำหรับผู้ชาย สบายมาก ไม่ต้องกังวลเรื่องหาห้องน้ำ เพราะห้องน้ำมีอยู่ตลอดสองข้างทาง
เรามาถึงที่พักเมือง Dingboche บ่ายๆ ตอนนี้ก็แยกย้ายกันพักผ่อน ส่วนพรุ่งนี้เป็นวันพัก (acclimatization day) เพื่อปรับสภาพร่างกายให้คุ้นเคยกับความสูงที่เราปีนขึ้นมาเกิน 500 เมตรในวันนี้
อย่างที่บอกไป ทุกอย่างที่นี่เป็นเงินเป็นทอง และเริ่มแพงขึ้นเรื่อยๆ ตามความสูง ใครจะมา พกเงินรูปีมาเยอะๆ จะสบาย ไม่ว่าจะชาร์จมือถือ ใช้ Wi-Fi กินกาแฟที่ไม่ใช่ instant อาบน้ำอุ่น คุณสามารถบันดาลทุกอย่างได้ด้วยการเปย์ ถือซะว่าเป็นการช่วยการกระจายรายได้ให้กับชุมชนละกัน
From Namche to Dingboche
วันนี้เป็นวันพักเนื่องจากเมื่อวานเรา hike ขึ้นมาเกิน 500 เมตร ต้องปรับสภาพร่างกายให้คุ้นกับปริมาณอ็อกซิเจนที่น้อยลง ไกด์พาเราเดินไปดูส่วนหนึ่งของเส้นทางวิ่งจริง… ระยะทางจากจุด Start ที่ EBC ไป finish line ที่ Namche ตามเส้นทาง trail วัดระยะได้ประมาณ 34K ดังนั้นผู้จัดเลยต้องเพิ่ม loop วิ่งไปกลับ 8K ที่หมู่บ้าน Dingboche นี้
ถามไกด์ว่าทางเรียบมั้ย ไกด์บอกว่าเป็น “Nepali Flat” เราจะค่อยๆ เดินขึ้นไป 4K แล้ววิ่งกลับลงมาอีก 4K โดยประมาณ… แต่ในความเป็นจริง อยากบอกว่า ถ้าแบบนี้บ้านกูเรียกว่าโคตรชัน… นี่ใช้เวลาประมาณ 2.5 ชม ไปกลับ ยังสงสัยว่าคุณ Sunum ที่เป็นแชมป์ จบ 42K ด้วยเวลา 3:47 นั้น… เค้าเป็นแพะภูเขาหรืออย่างไร
ช่วงบ่าย เป็นการปล่อยให้พักผ่อนอิสระ พวกเราเดินเล่นในหมู่บ้าน ซื้อของ แวะร้านกาแฟ เพื่อทานกาแฟและชาร์จมือถือ ทางร้านเปิดสารคดีเกี่ยวกับ Everest ให้ดู… หลังจากดูจบคิดว่า ชาตินี้คงวิ่งอย่างเดียวพอ อย่าปีนป่ายอะไรเลย มันดูอันตรายเกิน
ระหว่างเส้นทาง ถ้าสังเกตดีๆ เราจะเห็นธงสีๆ ทั้งหมด 5 สี ซึ่งก็เหมือนกับธิเบตหรือภูฏาน ทั้ง 5 สีมีความหมายดังต่อไปนี้
สีน้ำเงิน คือท้องฟ้า
สีขาว คือลม
สีแดง คือไฟ
สีเขียว คือน้ำ
สีเหลือง คือดิน
ซึ่งก็ตรงกับสัจธรรมตามศาสนาพุทธ เมื่อชีวิตได้ดับลง เราใช้ไฟเผา ลมก็พัดควันขึ้นสู่ท้องฟ้า ส่วนน้ำจะชะล้างเถ้าถ่านของร่างที่เหลือกลับสู่ผืนดิน คืนนี้พวกเราเตรียมแพ็คกระเป๋าให้พร้อมกับการเดินทางต่อ ยิ่งสูงยิ่งหนาว อุปกรณ์สร้างความอบอุ่นให้ร่างกายเราต้องพร้อม start line ที่ EBC รอเราอยู่
วันนี้มีสมาชิกในกลุ่มต้องกลับบ้านก่อนเพิ่มอีก 1 คน เพราะสภาพร่างกายสู้ไม่ไหว แพทย์ประจำกลุ่มก็เขียนใบรับรองแพทย์ให้ และเรียกเฮลิคอปเตอร์มารับไปส่งที่ Kathmandu ในกลุ่มเราทั้งหมด 21 คน ตอนนี้เหลือ 18 คนที่ยังได้ไปต่อ ก็ออกเดินทางกันต่อไป
หลายคนตอนนี้ก็เริ่มไอ แพทย์บอกว่าเป็น “Khumbu Cough” เป็นการไอที่เกิดจาก high altitude ด้วยอาการที่หนาวประกอบกับความชื้นที่ต่ำมากๆ
หลังจากหิมะตกไปเมื่อคืน เช้าวันนี้อากาศดี ฟ้าเปิด ได้เห็น Ama Dablam จากห้องอาหารตอนเช้าแบบเต็มๆ วิววันนี้พันล้านหมื่นล้าน เห็นยอดเขาตัวท็อปๆ ของเทือกเขา Himalaya แบบเต็มๆ อุณหภูมิวันนี้เริ่มเย็นต้องแต่งตัวให้หนาขึ้น แดดก็แรงพอสมควร ผิวไหม้ได้ง่ายๆ เรา hike ขึ้นมาสูงพอสมควร เริ่มสังเกตได้ว่าเหนื่อยง่าย หายใจยากขึ้น ต้องค่อยๆ เดินช้าๆ แต่เดินต่อเนื่อง พยายามจิบน้ำและฉี่ให้ได้บ่อยๆ
อาหารกลางวันเป็นมาม่า ดีใจมากได้เติมผงชูรสเข้าร่างกาย ขอพูดถึงอาหารในทริปนี้ซะหน่อย ตลอดหลายวันที่ผ่านมา จะเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นคาร์บ มันฝรั่ง แทบจะไม่ค่อยมีโปรตีน ยกเว้นไข่ คืออาหารการกินที่นี่เป็นประมาณนี้ เพราะทุกอย่างขนส่งยาก ราคาสูง แต่ถ้าเราอยากสั่งกินเองเพิ่ม ก็สั่งกับร้านหรือโรงแรมได้ ถ้าคราวหน้ามา จะพกหมูหยองหมูแผ่นมาเองเยอะๆ แต่ถ้าพูดถึงรสชาติอาหาร เค้าทำอร่อยเกือบทุกที่เลยนะ
ช่วงบ่ายเรา hike ต่อขึ้นมา ผ่าน Everest Memorial, Chukpi Lhara เป็นเหมือนอนุสรณ์ที่ไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตที่มา hike ในแถบเทือกเขา Himalayan นี้ เราเริ่มเห็นภูมิประเทศที่เปลี่ยนไป มีแต่ก้อนหิน เพราะบรรยากาศที่สูงขนาดนี้ ไม่สามารถทำการเกษตรกรรมได้แล้ว Dingboche คือหมู่บ้านสุดท้ายที่ทำการเพาะปลูกได้ เราเดินต่อขึ้นมาได้แป๊บเดียว หิมะก็เริ่มโปรยลงมา ก็ต้องเดินต่อไปทั้งหิมะ จนมาถึงที่พักเมือง Lebuche วันนี้ถึงระดับ 5,030 เมตรจากระดับน้ำทะเลแล้ว
วันนี้เรา hike ต่ออีกประมาณ 3 ชั่วโมง อากาศหนาวและมีหิมะตกปรอยๆ เส้นทางค่อนข้างชันและเริ่มเป็นก้อนหินมากขึ้น และนี่คือเส้นทางของ Everest Marathon ที่เราต้องวิ่งกลับลงมา คือดูแล้วไม่ง่ายเลย ไม่ใช่การวิ่งเทรลธรรมดาทั่วไป มันคือเทรลในภูมิประเทศและภูมิอากาศที่ไม่ปกติ
เราได้เห็นวิวของ Khumbu Glacier ซึ่งเป็นธารน้ำแข็งยาวกว่า 10 km ได้เห็นวิวของยอดเขาต่างๆ ในเทือกเขา Himalaya แม้ว่าเมฆจะบังบ้าง แต่ก็ยังสวย ถ้าวันที่ฟ้าเปิดตรงนี้จะต้องเป็นวิวพันล้านแน่นอน
พักที่วันนี้ที่ Gorakshep ไม่ได้เป็นเมือง เป็นแค่จุดพักเล็กๆ มีโรงแรมแค่ 4 แห่ง ทุกอย่างเบสิคมากๆ คนที่จะ hike ไป EBC ก็ต้องผ่านที่นี่และต้องนอนที่นี่ ไม่งั้นก็คงต้องเดินลงไปที่ Lobuche ซึ่งไกลพอสมควร หลังจากมาถึงที่พัก เราทานมื้อกลางวัน หิมะก็ตกลงมาอย่างหนัก อากาศหนาวมาก อุณหภูมิขณะนี้ประมาณ -4 เราต้องเอากระติกน้ำไปใส่น้ำร้อน แล้วยัดเข้าไปในถุงนอนแล้วนอนกอด เราจะใช้เวลาอยู่ที่นี่ 2 คืนเพื่อปรับสภาพร่างกายอีกครั้ง ก่อนจะ hike อีกเป็นครั้งสุดท้ายขึ้นไปที่ EBC จุดสตาร์ทของ Everest Marathon
From Dingboche to Gorakshep
เมื่อคืนหนาวมาก หิมะตก และมีอาการปวดหัว เนื่องจากยังไม่คุ้นกับปริมาณอ็อกซิเจนที่ลดลงอย่างรวดเร็ว แพทย์ประจำกลุ่มแนะนำให้ทาน Diamox เพิ่มเป็น double dose ทำให้ยิ่งต้องทานน้ำมากขึ้น และฉี่บ่อยขึ้น ซึ่งก็ต้องต่อสู้กับตัวเองที่นอนขดหนาวในถุงนอนว่าจะลุกขึ้นไปฉี่ดีมั้ย… เมื่อคืนลุกออกไปฉี่ประมาณ 3-4 รอบ เช้าตื่นขึ้นมากก็ยังปวดหัวอยู่
โปรแกรมวันนี้เป็นวันพัก อากาศดี ไกด์จะพาเรา hike ขึ้น Kala Patthar (5,644 m) ส่วนผมหลังจากทานอาหารเช้า ก็ทานยา ไปเดินถ่ายรูปรอบๆ ที่พัก แล้วกลับมานอนต่อ วันนี้เลยฝากพี่เป้และเพื่อนๆ ในกลุ่มถ่ายรูป ถ่ายวีดีโอมาให้ ที่นี่คือที่สุดท้ายที่เราจะชาร์จแบตเตอรี่และ power bank ได้ ก็เลยพยายามชาร์จทุกอย่างให้เต็ม แล้วเอา power bank ไปชาร์จใหม่ที่เค้าน์เตอร์ของโรงแรม
พรุ่งนี้เป็น big day เราจะเก็บกระเป๋าแพ็คเฉพาะของที่จำเป็น hike ขึ้นไปที่ Everest Base Camp แล้วไปนอนที่นั่น 2 คืน เพื่อเตรียมตัวสำหรับ Everest Marathon ในวันที่ 29 May
Everest Base Camp อาจจะเป็นจุดหมายปลายทางของใครหลายๆ คน แต่สำหรับพวกเราแล้ว มันเป็นแค่จุดเริ่มต้น… ใช่แล้ว มันคือจุด start line ของ Tenzing-Hillary Everest Marathon งานมาราธอนที่อยู่สูงที่สุดในโลก และขอเพิ่มเติมให้อีกว่า เป็นงานมาราธอนที่นักวิ่งเดินทางมาจุด start ยากที่สุดในโลก เพราะใช้เวลาเดินเท้าถึง 12 วัน
เมื่อคืนเป็นวันเกิดของ Howard นักวิ่งจาก NYC คนนึงในทริป ไกด์ก็อุตส่าห์จัดหาเค้กมาให้ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าเป็นอะไรที่เกินคาดมากๆ ที่จะมีเค้กแบบนี้ในสถานที่แบบนี้ ไกด์ทุกคนดูแลและใส่ใจเราดีมากๆ … วันนี้เราต้องจับคู่กันนอนเต็นท์ที่ Base Camp แต่ละคนจะมีกระเป๋าคนละใบ แต่เราต้องแบ่งกระเป๋ากันคนละครึ่ง เพราะใบนึงลูกหาบจะขนขึ้นไปที่ Base Camp ส่วนของที่ไม่จำเป็นสำหรับ 2 วันนี้จะถูกส่งกลับไปรอที่ finish line ที่ Namche ผมได้ Howard มาเป็น tent mate ก็สบายใจเพราะว่า Howard เป็นหมอ มีอาการอะไรก็ปรึกษาได้ตลอด
เรามาถึง Everest Base Camp ช่วงบ่ายๆ ไกด์นำน้ำชามาเสิร์ฟให้ร่างกายอบอุ่น แล้วจากนั้นก็พาแยกย้ายเข้าเต็นท์ พร้อมกับนัดเวลาอาหารเย็น ซึ่งเราต้องตรงเวลามากๆ เวลาอาหารเย็นจะถูกแบ่งเป็น slot สำหรับแต่ละกลุ่ม เราต้องมาตรงเวลาและทานให้เสร็จในช่วงเวลาของกลุ่มเรา ทุกอย่างที่นี่เบสิคมากๆ ไม่ว่าจะเป็นเต็นท์นอน เต็นท์ห้องอาหาร หรือเต็นท์ห้องสุขา
ตื่นเช้าขึ้นมาประมาณตีห้า ได้เห็นแสงแรกที่ Base Camp สวยมากๆ ฟ้าเปิดและอากาศเป็นใจ หลังจากที่หิมะตกเมื่อคืน ตอนกลางคืนเงียบมากๆ ได้ยินทุกเสียงไม่ว่าจะเป็นขุยหิมะที่ตกลงมากระทบเต็นท์ เสียงนกร้อง เสียงหินถล่ม
Base Camp ตั้งอยู่บนธารน้ำแข็ง มีการขยับตัวตลอดเวลา จริงๆ แล้วก็ไม่ค่อยปลอดภัยเท่าไหร่นัก ในวันที่อากาศร้อน ก็อาจมีการละลายและทรุดตัว หรือถ้าหากธารน้ำแข็งมีการเคลื่อนตัวก็เกิดอันตรายได้เช่นกัน วันนี้เป็นวันเบาๆ ให้พักผ่อน และถ่ายรูปรวม เตรียมตัวสำหรับการวิ่งพรุ่งนี้ โดยผู้จัดมาทำการบรีฟเส้นทาง จุดบริการน้ำและอาหาร คัทออฟ และข้อมูลต่างๆ ตอนนี้พร้อมมากๆ อยากวิ่งแล้ว… ให้มันจบๆ ไป…
ทริปนี้ต้องขอบคุณผู้จัด ไกด์ ทีมงาน ลูกหาบ คนครัว รวมถึงเพื่อนๆ นักวิ่งทุกคนในกลุ่ม A ดีใจที่ได้เจอเพื่อนใหม่ๆ ที่มีความบ้าพอๆ กัน มีความตั้งใจอยากไปวิ่งรอบโลกเหมือนกัน มั่นใจว่าเราต้องได้โคจรมาเจอกันอีกแน่นอน ที่ใดที่หนึ่งบนโลกใบนี้
From Gorakshep to EBC
วันนี้มีแข่งทั้งหมด 3 ระยะ
- Ultra 60K ปล่อยตัว 6 โมงที่ Base Camp
- Full Marathon 42K ปล่อยตัว 7 โมงที่ Base Camp
- Half Marathon 21K ปล่อยตัวกี่โมงก็ไม่รู้ที่ Dingboche
ทุกระยะมาจบที่เส้นชัยด้วยกันที่ Namche Bazaar
ตอนเช้าตื่นประมาณตี่สี่ครึ่งเพราะต้องมาทาน breakfast ตอนตีห้า (ส่วนนักวิ่งระยะ ultra marathon ต้องตื่นมาทาน breakfast ตอนตีสี่) ได้เห็นแสงแรกที่ Base Camp พอดี สวยงามมากๆ รู้สึกดีใจที่วันนี้อากาศเป็นใจ ฟ้าเปิด ไม่มีฝน ไม่มีหิมะ น่าจะเป็นอากาศที่ perfect มากๆ สำหรับวันแข่ง
เก็บของเสร็จหมดหกโมงเช้า ลูกหาบมารับกระเป๋าจากเต็นท์ไป ตอนนี้เหลือแต่ตัวเราในชุดวิ่ง พร้อมกับเป้วิ่งเทรล มีแจ็คเก็ตคลุมหนึ่งตัว นั่งสั่นอยู่ในเต็นท์จนใกล้เวลาปล่อยตัวก็เดินไปรอที่ start line โดยมีไกด์ประจำกลุ่มคอยเก็บเสื้อคลุมใส่ถุงให้ ตอนยืนที่ start line เท้าเย็นจนไม่มีความรู้สึกเลย (นี่ขนาดใส่ถุงเท้าสองชั้น)
ปล่อยตัวออกไป ก็ง่ายๆ บ้านๆ มาก แค่มีคนตะโกน one two three Go!… สิ้นเสียงนั้น พวกนักวิ่ง Sherpa ท้องถิ่นก็กรูกันออกไป ส่วนนักวิ่งต่างชาติแบบพวกเราก็ค่อยๆ เดินเตาะแตะ อย่างระมัดระวัง เพราะพื้นเป็นก้อนหินที่จริงๆ แล้วอยู่บนธารน้ำแข็งที่กำลังละลายและเคลื่อนตัว ถ้าไม่ระวังก็อาจจะหล่นลงไปได้ แต่จริงๆ ที่ไม่วิ่งเพราะว่า… แค่ขยับตัวนี่ก็แทบจะหายใจไม่ทันละ อ็อกซิเจนน้อยมาก พวกเราก็ได้แต่เดินอย่างสงบเสงี่ยม
ผ่านช่วงประมาณ 5K แรก ก้มดู Garmin เราใช้เวลาไปแล้วเกือบ 2 ชม เนื่องจากเส้นทางยากมากๆ เป็นทางหินแคบๆ ชันๆ หายใจลำบาก มาถึงจุด checkpoint แรกที่ Gorakshep ข้าศึกบุกหนักอีก เลยไปจัดการข้าศึก เสียเวลาไปเกือบ 10 นาที
พี่เป้ถาม…
พป: เชดอยากวิ่งมั้ย
พช: ไม่คับพี่ เอาแค่จบพอ
พป: งั้น power walk ไปด้วยกัน
พช: ดีลครับพี่ ไปด้วยกัน
วันนี้โชคดีมากที่ได้พี่เป้มาเป็นบัดดี้ ช่วงแรกๆ เราชิลกันไปหน่อย คืออยากใช้เวลาในเรซให้คุ้มค่า มัวแต่ถ่ายรูป ถ่ายวีดีโอไปเรื่อย กว่าจะมาถึง Dingboche ปาเข้าไปเกือบเที่ยง แล้วก็ต้องวิ่งเข้า Dingboche loop เป็นเส้นทางไปกลับที่ผู้จัดเพิ่มเข้ามา 8K เพื่อให้ครบระยะ full marathon เค้าบอกว่าเป็นทางเรียบๆ สบายๆ พอวิ่งจริง… โคตรชัน แล้วเป็นช่วงที่ทรมานมาก เพราะเราจะวิ่งสวนกับคนที่วิ่งกลับมา ภาพความทรงจำผานกกกผุดขึ้นมาทันที “อีกนิดเดียว” “ใกล้ถึงแล้วๆ” คนที่เดินสวนมาตะโกนบอก
ตอนออกจาก Dingboche (ระยะประมาณ half marathon) เรามีเวลาอีก 2.5 ชม เพื่อไปให้ทัน cutoff ที่ Tengboche (ระยะ 32 km) เวลาบ่ายสี่โมง ตอนแรกก็คิดว่า สบายๆ เหลือๆ พวกเราสามคน (ผม พี่เป้ และ Dilly เพื่อนนักวิ่งชาว Bulgarian ในกลุ่มที่เราไปสอยมาอยู่ด้วยกัน) ค่อยๆ hike กันไปเรื่อยๆ… จะบอกว่าตั้งแต่ปล่อยตัวออกมา แทบไม่ได้วิ่งเลย เดินและ hike อย่างเดียวก็แทบหายใจไม่ทันแล้ว… มารู้อีกทีตอนข้ามสะพานแขวน และต้องปีนขึ้นเนินชันๆ… เฮ้ยมันใกล้จะหลุด cutoff แล้วนะ… พี่เป้รีบพุ่งขึ้นไปก่อน ส่วนผมปิดท้ายกับ Dilly ที่กำลังจะถอดใจ พี่เป้ตะโกนเร่งให้รีบๆ พวกเราพยายามให้กำลังใจ มาถึงนี้แล้ว อีกนิดเดียว เอาให้ทัน cutoff จุดนี้ก่อน ที่เหลือค่อยว่ากัน… แล้วเราก็มาทันก่อน cut off 2-3 นาที… สรุปว่าที่ระยะ 32K เราใช้เวลาไป 9 ชม.
คนที่มาถึง cut off ปริ่มๆ แบบพวกเรา ทางเรซแนะนำให้หาที่นอน โดยกดหยุดนาฬิกาไว้ แล้วเช้าวันรุ่งขึ้นค่อย resume ต่อ ถ้าเลือกนอน จะโดนปรับ 3 ชม. พูดง่ายๆ คือ วิ่ง 32K มาแล้ว 9 ชม. + โดนปรับ 3 ชม. ก็รวมเป็น 12 ชม. เช้าตื่นมาวิ่งอีก 10K โดยมีเวลาเหลือ 3 ชม. เพราะ total cut off ของเรซคือ 15 ชม. สำหรับระยะ full marathon
เหลืออีก 10K กับเวลาตอนนี้บ่ายสี่โมง ซึ่งอากาศเริ่มเปลี่ยนเป็นหมอกหนาวๆ ไม่มีแดด เราคิดว่า เดินไปเรื่อยๆ ด้วยกัน น่าจะโอเค เพราะเราได้เจอกับไกด์กลุ่มเราที่จุด cut off ด้วยพอดี ไกด์บอกกับทางเรซว่าไม่เป็นไร ไกด์จะเดินไปด้วย ไม่อันตราย พวกเราก็อุ่นใจ
เส้นทางวิ่งของ Everest Marathon ไม่มีทางเรียบเลย… ย้ำ! ไม่มีตรงไหนเรียบเลย มีแต่ขึ้นและลง พื้นเป็นหิน ธารน้ำแข็ง หิมะ ดินลูกรัง ทุกอย่างผสมกัน… พี่เป้บอกว่าวิ่ง Antarctica Marathon ก็ว่าโหดแล้ว อันนี้นับว่าโหดกว่า เพราะบวกเรื่องปริมาณอ็อกซิเจนที่น้อยเข้าไป ทำให้เราทำอะไรเร็วมากๆ ไม่ได้
วันนี้ต้องขอบคุณพี่เป้มากๆ เริ่มตั้งการป้ายยาให้สมัครเรซนี้ การเตรียมตัว การจองตั๋ว การแพลนทริป ไม่ใช่แค่ทริปนี้ เพราะหลังจากนี้เรายังจะไปต่อกันอีก 3 มาราธอน… วันนี้เราผลัดกันลาก ลากกันไป ลากกันมา จนจบ ปาเข้าไปเกือบ 13 ชม. เป็นอะไรที่โหดและทรมานมากๆ แต่ก็มีความสุขที่เราทำสำเร็จ ได้ขีดฆ่าประเทศ Nepal ออกไปจากลิสต์ของพวกเราไปอีกหนึ่ง… เรซนี้เป็นประเทศที่ 36 ของพี่เป้แล้ว และพวกเราก็ยังตามล่ากันต่อไปเรื่อยๆ… จนกว่าจะรอบโลก
หลังจากวิ่งมาราธอนจบ วันรุ่งขึ้นเราก็เดินเท้า 2 วัน กลับจาก Namche Bazaar มานอนที่ Monjo Village คืนนึงและ เดินจาก Monjo Village กลับลงมาที่ Lukla อีก 1 คืน
ไฟลท์จาก Lukla กลับมาที่ Kathmandu มีปัญหานิดหน่อย ไม่แน่ใจว่าเพราะสภาพอากาศหรือว่าอะไร แต่ผู้จัดก็ได้มี buffer ไว้เพื่อเหตุฉุกเฉินพวกนี้อยู่แล้ว สังเกตได้จากตาราง itinerary ตั้งแต่ต้นจนจบจะเป็นแบบหลวมๆ ถ้าพลาดไฟลท์ไปวันนึง หรือถ้ามีฝนตกหนักมากๆ วันนึง ทุกอย่างก็สามารถเลื่อนและเปลี่ยนแปลงได้ เราบินมาลงที่ Ramechhap แทนและนังรถบัสแบบเขย่าๆ อีก 3-4 ชม. กลับมาที่ Kathmandu
แม้ว่าจะเป็นประเทศที่ไม่ค่อยเจริญซักเท่าไหร่ รถติด ควันพิษ เสียงแตร ฝุ่น ขยะ ความวุ่นวาย… แต่ ณ จุดนี้ Kathmandu เปรียบเหมือนสวรรค์ ที่เราสามารถอาบน้ำอุ่นได้ ชาร์จมือถือได้ ซื้ออะไรที่อยากกินได้
ผู้จัดมี celebration party ให้กับนักวิ่งทุกคน โดยปีนี้มีนักวิ่งรวมๆ กันทุกระยะประมาณ 500 คน เป็น full marathon ประมาณ 150 คนจาก 25 ประเทศ
สรุปให้ฟังเรื่อง Everest Marathon
- เป็นทริปประมาณ 20 วัน
- เป็นงานมาราธอนที่สูงที่สุดในโลก จุด start อยู่ที่ Everest Base Camp (5,364 m)
- จัดขึ้นทุกวันที่ 29 May ซึ่งเป็นวันครบรอบการพิชิตยอดเขา Everest เป็นครั้งแรกโดย Tenzing และ Hillary
- มี 3 ระยะ Ultra 60K, Full 42K, Half 21K
- ฤดูท่องเที่ยวปกติจะเป็นเดือน Mar-May และ Sep-Nov ช่วงปลายเดือน May ถึงต้นเดือน Sep เป็น low season เพราะฝนตก ทำให้การ hiking เป็นไปได้ยากลำบาก ส่วนช่วง Nov – Mar ก็หนาวมาก
การเตรียมร่างกาย
- การซ้อม แนะนำให้ลองใส่ training mask เพื่อเลียนแบบปริมาณอ็อกซิเจนที่ลดลง
- ปรึกษาแพทย์ หากต้องกินยา Diamox เพื่อป้องกันโรค altitude sickness
- เตรียมฉีดวัคซีนต่างๆ (ปรึกษาสถานเสาวภาหรือโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน)
- คนที่กลัวว่าจะวิ่งไม่ไหว วิ่งไม่จบ ดูตัวอย่างแอด เดินถ่ายรูปถ่ายวีดีโอไปเรื่อยๆ แต่ก็เดินเร็วๆ หน่อยนะ แทบจะไม่วิ่งเลย ก็ยังทัน cutoff ใข้เวลาอยู่กับธรรมชาติให้คุ้มค่าที่สุด
การเตรียมอุปกรณ์
- หาถุงนอนที่ทนความหนาวติดลบได้ (มาเช่าที่ Namche ได้)
- แนะนำไม้ trekking poles (ส่วนตัวไม่ได้ใช้ เพราะเกะกะ เป็นภาระ มือซ้ายถือกล้อง DJI ถ่ายวีดีโอ มือขวาถือ iPhone ถ่ายภาพนิ่ง)
- อุปกรณ์การวิ่งเทรลทั่วไป
- เสื้อผ้าไม่ต้องแบกมาเยอะ ขายาว ขาสั้น แขนขาว แขนสั้น อย่างละ 2 ตัวพอ เพราะสุดท้ายไม่ได้อาบน้ำหรอก อย่างมากก็อาบน้ำทิพย์ทิชชูเปียกเช็ดเอา แต่ให้แน่ใจว่ากันแดด กันหนาว กันลม กันฝนมีครบ เพราะเราจะเจอทุกฤดู
- เอาเสื้อหนาวอุ่นๆ หนาๆ เบาๆ มา 2-3 ตัว ยิ่งขึ้นสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เราจะใส่เสื้อหนาวหลายชั้นขึ้น
- สัญญาณมือถือและ Wi-Fi ไม่ค่อยมี แนะนำให้ซื้อ Everest Link Wi-Fi ที่ Lukla ราคา 1,999 รูปี ใช้ได้ 30 วัน 10 GB สัญญาณจะมีตั้งแต่ Lukla ยาวไปจนถึง Base Camp แต่ก็ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ เพราะบางหมู่บ้านใช้ไฟฟ้าจาก solar ถ้าไม่มีแดด ก็ไม่มีไฟฟ้า router ก็จะง่อยๆ หน่อย ส่วน AIS Sim2Fly ก็เวิร์คในบางช่วงที่ Everest Link ไม่เวิร์ค เอาเป็นว่าถ้ามีสองอย่างนี้ก็ไม่ตัดขาดจากโลกภายนอก
- แว่นกันแดด sunblock สำคัญมากๆ
- electrolyte ชนิดซองหรือเม็ด ผสมกับน้ำ เวลาขึ้นที่สูงเราจะ dehydrate มากๆ เอาไว้ boost สภาพร่างกาย
- อุปกรณ์ปฐมพยาบาลเล็กน้อย
การเตรียมจิตใจ
- ทริปนี้ไม่ได้สบาย จ่ายเงินหลักแสนแถมยังเป็นการพาตัวเองมาลำบากยิ่งกว่าไปเขาชนไก่
- ส้วมเป็นอะไรที่ท้าทายมาก คุณจะได้เจอทุกแบบ แนะนำให้ฝึก squat แบบขาถ่างๆ มาล่วงหน้า
- ควรฝึกหัดขับถ่ายในป่าให้เป็น
- ควรทำใจไม่อาบน้ำ 3-4 วันได้
- อาหารการกิน ต้องเข้าใจว่าไม่ได้กินดีๆ สิ่งที่เค้ามีให้เรากินคือหรูที่สุดของเค้าแล้ว
- คนเนปาลน่ารักมากๆ ถ้าเรานมัสเตไปด้วยรอยยิ้ม ก็จะได้การตอบรับนมัสเตด้วยรอยยิ้มกลับมา
- เวลาไปที่แปลกแบบนี้ คุณจะได้เจอกับเพื่อนนักวิ่งหลุดโลก เป็นการเปิดโลกใหม่ให้กับคุณ
วีซ่า
กรอกฟอร์ม visa on arrival มาให้เสร็จก่อน มาถึงแล้วก็แค่จ่ายเงิน สะดวก รวดเร็ว
การเดินทาง
บินลงสนามบิน Kathmandu (KTM) แล้วผู้จัดก็จะมารับ
งบประมาณ/ค่าใช้จ่าย
- ค่าแพคเกจ $2,700 รวมโรงแรม ที่พัก อาหาร ไกด์ และบิบ
- เตรียม pocket money ไปอีกประมาณ $400-500 เป็นสำหรับค่าขนม ค่าน้ำ ค่าของที่ระลึก ค่าอาบน้ำอุ่น ค่าชาร์จแบต
- ทิปสำหรับไกด์และลูกหาบ
เส้นทางวิ่ง
- ส่วนใหญ่เป็นการลงเนิน ช่วง 5K แรกเป็นการวิ่งบนหินที่กลิ้งไปกลิ้งมาอยู่บนธารน้ำแข็ง
- ช่วงที่ขึ้นเนินค่อนข้างชันและโหดมากๆ เหนื่อยมากๆ เดิน 2-3 ก้าวก็ต้องหยุดพักหายใจ 10-15 วิ
- ครึ่งแรกวิ่งค่อนข้างลำบาก ครึ่งหลังเส้นทางจะเริ่มคล้ายๆ การวิ่งเทรลธรรมดาที่เราคุ้นเคย แต่ก็ยังเป็นชั้นบรรยากาศที่สูงกว่า 3,000 เมตรอยู่ คือหายใจเหนื่อยแหละ
- ครึ่งหลังจะเป็นทางลูกรัง ฝุ่นค่อนข้างเยอะ หลายคนจะมีอาการไอ เรียกว่า Khumbu Cough เกิดจากอากาศเย็นและแห้ง