Schengen มีทั้งหมด 26 ประเทศ คือ Austria, Belgium, Czech Republic, Denmark, Estonia, Finland, France, Germany, Greece, Hungary, Iceland, Italy, Latvia, Liechtenstein, Lithuania, Luxembourg, Malta, Netherlands, Norway, Poland, Portugal, Slovakia, Slovenia, Spain, Sweden และ Switzerland จากประสบการณ์ในอดีต ไม่ว่าจะสถานทูตไหน ทั้งในไทยและต่างประเทศ ไอเดียคร่าวๆ คือ จุดประสงค์การเดินทางของเราต้องชัดเจน และทำให้เค้ามั่นใจได้ว่า เราเดินทางไปเพื่อจุดประสงค์นั้นจริงๆ ไม่มีจุดประสงค์อื่นแอบแฝง และมั่นใจว่าเราจะเดินทางกลับเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจตามจุดประสงค์นั้นแล้ว
เอกสารประกอบการขอวีซ่า
- กรอกใบสมัครขอวีซ่า เซ็นชื่อและลงวันที่ (ตัวจริง)
- รูปถ่ายหน้าตรง จำนวน 2 รูป พื้นหลังสีขาว ขนาด 3.5 x 4 cm รูปต้องเหมือนกัน และห้ามซ้ำกับรูปในวีซ่าอันเก่าๆ เห็นใบหน้าชัดเจน หรือ 75% ของรูป
- หนังสือเดินทาง (ตัวจริง + สำเนา)
- หนังสือเดินทางเล่มเก่า (ตัวจริง + สำเนา) เพื่อแสดงประวัติการเดินทาง
- แผนการท่องเที่ยว
- เอกสารการจองตั๋วเครื่องบินไป-กลับ
- เอกสารการจองที่พักในแต่ละคืน
- ประกันภัยการเดินทาง
- หนังสือรับรองการทำงาน (ฉบับจริง)
- สลิปเงินเดือน 3 เดือนล่าสุด (สำเนา)
- สำเนารายการเดินบัญชีย้อนหลัง 3-6 เดือน พร้อมทั้งหนังสือรับรองการเป็นเจ้าของบัญชีจากธนาคาร
อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักฐานต่างๆ
1-3 น่าจะตรงไปตรงมา ไม่น่ามีอะไรซับซ้อน
4 นี่เป็นการแสดงเครดิตการเดินทาง ให้ทำสำเนาของทุกหน้าที่มีวีซ่าและตราประทับ การที่เราเดินทางเยอะ และกลับมาตามกำหนด ก็ยิ่งสร้างความมั่นใจในการพิจารณาให้วีซ่าได้ง่ายขึ้น คนที่ไม่เคยมีประวัติการเดินทางเลย ถ้านี่เป็นการเดินทางต่างประเทศครั้งแรกของคุณ ก็ไม่ต้องกังวลไป ทุกคนต้องมีครั้งแรก มันแค่ลุ้นมากกว่าคนอื่นแค่นั้นเอง
5 แผนการท่องเที่ยว ระบุรายละเอียดทีละวันตั้งแต่ออกเดินทาง ว่าเดินทางด้วยไฟลท์อะไร แต่ละวันไปเที่ยวไหน พักที่ไหนในแต่ละคืน จนกระทั่งไฟลท์ในวันเดินทางกลับ
6-7 ก็ให้สอดคล้องและตรงกับแผนที่เขียนไว้
8 ต้องครอบคลุมวันเดินทางทั้งหมด และครอบคลุมค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล 30,000 ยูโร หรือตามที่แต่ละสถานทูตระบุ นอกจากนี้อาจต้องมี medical evacuation ด้วย โดยมีรายละเอียดของชื่อประเทศที่จะไปทั้งหมดอย่างชัดเจน
9-11 สำหรับคนที่มีงานทำ หรือทำงานประจำ ไม่น่ามีปัญหาอะไรอยู่แล้ว ในหนังสือรับรองการทำงาน ให้ระบุตำแหน่ง รายได้ (เงินเดือน) และมีข้อความชัดเจนไปเลยว่าทางนายจ้างได้อนุมัติการลาพักร้อนไปเที่ยวครั้งนี้ ตั้งแต่วันที่เท่าไหร่ถึงเท่าไหร่ (ครอบคลุมระยะเวลาการเดินทาง) ส่วนบัญชีควรมีทั้งบัญชีที่เงินเดือนเข้า (ยอดเงินเข้าตรงกับสลิปเงินเดือน) และบัญชีที่มีจำนวนเงินมากพอที่จะใช้เป็นค่าใช้จ่าย
ในการเดินทาง จะใช้หลายบัญชีรวมกันก็ได้ หรือถ้าบัญชีที่เงินเดือนเข้ามีเงินมากเพียงพอก็ใช้บัญชีเดียวได้
ควรมีเงินในบัญชีเท่าไหร่
ไม่มีคำตอบตายตัว แต่อย่างน้อยควรมีประมาณ 150-200 ยูโรต่อวัน (คร่าวๆ วันละ 6,000-8,000 บาท) เช่น ถ้าเดินทาง 7 วันก็มี 56,000 บาทในบัญชีเป็นอย่างน้อยให้อุ่นใจ แม้ว่าจะไม่ได้ตายตัวอย่างที่บอก แต่เป็นการสร้างความมั่นใจให้สถานทูตว่า เรามีเงินเพียงพอที่จะไปเที่ยวจริงๆ ที่สำคัญคือ เงินที่อยู่ในบัญชี ควรเป็นเงินที่มีการเคลื่อนไหวอยู่เรื่อยๆ หรือมีอยู่ในบัญชีมานานแล้ว ไม่ใช่มียอดเงินเพิ่มขึ้นมากระทันหันก่อนไปขอวีซ่า
ไม่มีงานประจำทำ
ต้องเขียนจดหมายอธิบายว่าเราทำอาชีพอะไร มีรายได้อย่างไร ธุรกิจเป็นอย่างไร มีที่มาของรายได้อย่างไร โดยพยายามหาหลักฐานมาประกอบการอธิบายนั้น ทำยังไงก็ได้ให้เค้าเชื่อว่าเรามีรายได้จากอาชีพสุจริตจริงๆ และมีหลักฐานให้เค้าเห็นจริงๆ สำหรับคนที่ทำธุรกิจส่วนตัวก็อาจจะมีใบอนุญาตประกอบการ หรือหลักฐานการเสียภาษีของธุรกิจก็ได้ หรือถ้ากรณีที่พ่อแม่ผู้ปกครองออกค่าใช้จ่ายให้ ก็ให้มีจดหมายชัดเจนว่าใครเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ใคร
ต้องยื่นเรื่องที่สถานทูตไหน
ถ้าตามกฎของเชงเก้นคือ
👉🏼 ไปประเทศไหนนานที่สุด ให้ยื่นกับสถานทูตนั้น
👉🏼 ไปหลายประเทศแต่จำนวนวันเท่ากัน ให้ยื่นของประเทศแรกที่ไปถึง
ทีนี้ ประเด็นคือ บางคนจะไปวิ่ง Berlin Marathon อยู่ในเยอรมัน 4 วัน แล้วจะไปเที่ยวฝรั่งเศสต่ออีก 5 วัน ตามกฎคือต้องไปขอเชงเก้นที่สถานทูตฝรั่งเศส เพราะจำนวนวันมากกว่า แต่กลับโดนสถานทูตฝรั่งเศสตอกกลับมา ว่าถ้าจะไปวิ่ง Berlin Marathon ต้องไปขอที่เยอรมัน เพราะนี่คือจุดประสงค์หลักของทริป… อันนี้เราเถียงเค้าไม่ได้นะ มันแล้วแต่คนจะมอง ว่าจะเอาจำนวนวันเป็นหลัก หรือเอาจุดประสงค์ของทริปเป็นหลัก ถ้าเป็นเคสแบบนี้ เวลาเขียนแผนเที่ยว เขียนไปเลยว่าไปเยอรมัน 4 วัน ไปเที่ยวดูกำแพงเบอร์ลิน ไปดูปราสาท แล้วก็ไปเที่ยวฝรั่งเศส 5 วัน อยู่ปารีส 3 วัน ไปนอกเมืองอีก 2 วัน อะไรก็ว่าไป ไม่ต้องไปพูดถึง Berlin Marathon ให้เค้าสับสน เพราะมันจะทำให้จุดประสงค์การเดินทางของเราเป็นสีเทา อยู่ตรงกลางว่าจะไปวิ่งหรือจะไปเที่ยว แต่ถ้าจำนวนวันที่เยอรมันมากกว่าประเทศอื่นๆ อยู่แล้ว เอาอีเมลการตอบรับของ Berlin Marathon แปะลงไป แล้วไปขอวีซ่าที่สถานทูตเยอรมัน อันนี้จะจบแบบง่ายมากๆ
การทำแผนการท่องเที่ยวเพื่อไปขอเชงเก้นจากสถานทูตประเทศนึง แล้วเวลาใช้จริงนำเอาไปเดินทางอีกประเทศนึง ไม่ควรทำ เพราะเดี๋ยวนี้เข้มงวดมากๆ มีการตรวจวีซ่าตั้งแต่ก่อนขึ้นเครื่อง คุณอาจจะโดนปฏิเสธไม่ให้บิน แถมอาจจะโดน black list อีก ขอประเทศไหน ต้องไปประเทศนั้นจริงตามแผนการท่องเที่ยว อย่างน้อยต้องบินไปถึงประเทศนั้นก่อน จำนวนวันอาจจะเปลี่ยนทีหลัง อันนี้ไม่ซีเรียส
ขอให้ทุกคนได้วีซ่าทันการเดินทาง วิ่งอย่างสนุกสนาน และเที่ยวอย่างปลอดภัยราบรื่นทุกคนครับ
Pingback: หนทางสู่ Six Star Finisher - วิ่งรอบโลก: Running the World