เหรียญ Six Star Finisher เป็นเหรียญที่มอบให้แก่นักวิ่งที่วิ่งจบครบทั้ง 6 World Marathon Majors ซึ่งได้แก่
- Tokyo Marathon
- Boston Marathon
- TCS London Marathon
- BMW Berlin Marathon
- Bank of America Chicago Marathon
- TCS New York City Marathon
ในช่วงไม่กี่ปีให้หลังมานี้ จำนวนนักวิ่งที่สนใจในการตามล่าเหรียญ Six Star ก็เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การจะได้เข้าไปวิ่งในรายการใหญ่ทั้ง 6 นี้ก็เริ่มยากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน เรียกว่าต้องฟาดฟันกัน ไม่ว่าจะด้วยความเร็ว ด้วยดวง หรืออีกหลายๆ วิธี… ผมวิ่งจบครบทั้ง 6 รายการ ในปี 2019 จึงเป็นที่มาของบทความที่ผมกำลังจะเขียนนี้ เผื่อว่าจะได้เป็นลายแทงนำทางให้แก่เพื่อนๆ นักวิ่งผู้ที่สนใจต่อไป
ท่านไหนมีคำถามหรือข้อสงสัยอะไร สามารถเขียนถามมาใน comment ได้เลย (เผื่อจะได้เป็นประโยชน์กับคนอื่นด้วย) ถ้าผมรู้ จะตอบให้ ถ้าไม่รู้ ก็จะไปหาคำตอบมาให้ครับ
น้องใหม่ล่าสุดและหนึ่งเดียวในเอเชีย
Tokyo Marathon ได้เข้ามาเป็นสนามที่ 6 ใน World Marathon Majors ตั้งแต่ปี 2013 และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีการพัฒนาระบบการจัดการ ทำให้จำนวนนักวิ่งในแต่ละปีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนล่าสุดในปี 2019 มีนักวิ่งประมาณ 35,000 คน
เส้นทางวิ่งโดยรวมเป็นทางเรียบ มีเนินไม่มาก ผ่านจุดท่องเที่ยวหลักๆ ใน Tokyo หลายจุด เช่น Asakusa, Imperial Palace, Tokyo Tower, และย่าน Ginza กองเชียร์สองข้างทางยาวตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ เป็นเสมือนการปิดเมือง Tokyo เพื่อจัดงานเทศกาลประจำปี ซึ่งแตกต่างและโดดเด่นกว่างานอื่นๆ ด้วยเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและความเป็น “ญี่ปุ่น” ที่ไม่เหมือนใคร
การแข่งขันจะเกิดในวันอาทิตย์แรกของเดือนมีนาคมของทุกปี
Website: https://www.marathon.tokyo/en/
Facebook: @tokyo42195.org
Instagram: @tokyomarathon
ค่าสมัคร: ¥23,300 สำหรับนักวิ่งสัญชาติญี่ปุ่น และ ¥25,300 สำหรับนักวิ่งต่างชาติ
วิธีคัดเลือกเข้าแข่งขัน
เปิดรับสมัครประมาณเดือนสิงหาคม และประกาศผลประมาณกลางเดือนกันยายน ลำดับในการสมัครก่อนหลังไม่สำคัญ เพราะระบบทำการ random แบบแฟร์ๆ หลังจากประกาศผลผู้สมัครที่โชคดีได้รับคัดเลือก ต้องทำการจ่ายค่าสมัครภายในระยะเวลาที่กำหนด อัตราการได้ lottery ประมาณ 3-5%
Charity หรือในชื่อ “Run with Heart”
เปิดให้สมัครประมาณเดือนกรกฎาคม โดยเลือกองค์กรการกุศลจาก Run with Heart หลังจากส่งใบสมัคร องค์กรการกุศลจะคัดเลือกใบสมัคร นักวิ่งจะต้องระดมเงินให้เสร็จสิ้นตามเป้าภายในเดือนสิงหาคม ในปี 2024 มีโควต้าให้กับนักวิ่งที่ทำ charity ของทุกองค์กรรวมกัน 5,000 คน
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ charity ได้ที่ ➤ https://www.marathon.tokyo/en/charity/
Semi-Elite หรือในชื่อ “Run as One”
สำหรับนักวิ่งต่างชาติที่จะยื่นเวลา จะต้องส่ง official certificate จากงานวิ่งมาตรฐาน World Athletics โดยแบ่งเป็นประเภทชายและหญิง (ไม่จำกัดอายุ) ตามเวลาดังต่อไปนี้
ชาย < 2:32:00
หญิง < 2:39:00
รับจำนวนนักวิ่งชายและหญิงอย่างละ 25 คน
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ➤ https://www.marathon.tokyo/en/participants/run-as-one/
เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ Tokyo Marathon ไม่ได้จัดการวิ่งเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน จึงมีความจำเป็นต้องจัดสรรนักวิ่งที่ติดค้างให้หมดก่อน การขาย package น่าจะกลับมามีขายอีกครั้งในปี 2024 โดยมีจำนวนค่อนข้างจำกัด
แพคเกจบิบพร้อมโรงแรมสำหรับ Tokyo Marathon 2025 โดย Official Operator ที่ได้รับสิทธิ์การขายอย่างถูกต้องในประเทศไทย: จะเปิดขายประมาณกลางปี 2024 สามารถลงทะเบียน waiting list ได้ที่ https://letsrun.world/waiting-list/
การเดินทางและการเลือกที่พัก
Tokyo Marathon ถือเป็นสนามที่อาจจะง่ายที่สุดแล้วสำหรับนักวิ่งชาวไทยในแง่มุมของการเดินทาง เพราะไม่ต้องขอวีซ่า การเดินทางค่อนข้างที่จะสะดวกมากๆ จากสนามบิน Narita หรือสนามบิน Haneda เราสามารถนั่งรถไฟเข้าตัวเมือง แล้วต่อด้วยรถไฟใต้ดินหรือ JR ไปยังที่พัก
ส่วนตัวแล้วแนะนำให้หาที่พักใกล้ๆ กับสถานีรถไฟ เพื่อสะดวกต่อการเดินทาง
- จุด start ของ Tokyo Marathon อยู่ที่บริเวณหน้าตึก Tokyo Metropolitan Government Building ถ้าใครต้องการหาที่พักใกล้ๆ จุด start ก็แนะนำย่าน
- จุด finish ของ Tokyo Marathon อยู่บริเวณ Tokyo Station ถ้าต้องการหาที่พักใกล้ๆ จุด finish ก็เลือกแถวบริเวณนี้
- งาน expo จัดขึ้นที่ Tokyo Big Sight South Exhibition Halls
มาราธอนประจำปีที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
เริ่มจัดขึ้นตั้งแต่ปี 1897 เส้นทางวิ่งยังคงเหมือนเดิมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เส้นทางวิ่งเริ่มต้นจากเมือง Hopkinton ไมล์แรกเป็นการลงเนินเสมือนตกตึก 13 ชั้น ผ่านเมืองต่างทั้งหมด 8 เมือง โดยมี Ashland, Natick, Framingham, Wellesley, Newton ซึ่งมีเนินทั้งหมด 3 เนิน เนินสุดท้ายชื่อ Heartbreak Hill ก่อนที่จะลงเนินผ่านเมือง Brookline เข้าไปจบที่ Boston เป็นการวิ่งแบบ point-to-point และเป็นเพียงงานเดียวใน 6 World Majors ที่ไม่มีการจับ lotto
การแข่งขันจะเกิดในวันจันทร์ที่สามของเดือนเมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวัน Patriot Day
Website: https://www.baa.org/
Facebook: @bostonmarathon
Instagram: @bostonmarathon
ค่าสมัคร: $225 สำหรับนักวิ่งท้องถิ่น $235 สำหรับนักวิ่งต่างชาติ
วิธีคัดเลือกเข้าแข่งขัน
ผู้สมัครจะต้องนำผลรับรองเวลาวิ่งในสนามมาราธอนซึ่งได้รับมาตรฐาน AIMS หรือ USATF อย่างน้อยตามตารางที่กำหนดไว้ การยื่นสมัครจะอยู่ในช่วงกลางเดือนกันยายน โดยเวลาที่นำมายื่นสมัคร จะต้องเป็นเวลาที่วิ่งไม่ต่ำกว่า 1 ปี (กันยายนปีที่ผ่านมาจนถึงกันยายนปีนี้) ถ้าได้รับการคัดเลือก ก็จะได้วิ่งในเดือนเมษายนปีหน้า
การนับรุ่นอายุ นับที่วันแข่งขัน Boston Marathon ปีที่เราจะสมัคร ว่าในวันนั้นเรามีอายุเท่าไหร่
อย่างไรก็ตาม การส่งผลเวลาไม่ได้การันตีเสมอไปว่าเราจะได้เข้าร่วมการแข่งขัน นักวิ่งควรทำเวลาต่ำกว่าเกณฑ์ในช่วงอายุที่จะสมัครประมาณ 5 นาที ปกติแล้วทาง BAA จะเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีเวลาต่ำกว่าเกณฑ์ได้ยื่นใบสมัครก่อน เป็นการสมัครแบบ rolling application เริ่มจากผู้ที่มีเวลาต่ำกว่าเกณฑ์ 20 นาที ตามด้วยกลุ่มที่มีเวลาต่ำกว่าเกณฑ์ 10 นาที และ 5 นาทีตามลำดับ ถ้ายังมีที่เหลือ จะพิจารณาจากผู้สมัครที่มีเวลาต่ำกว่ามาตรฐาน (ซึ่งโดยปกติมีมากกว่าจำนวนที่ว่างที่เหลืออยู่)
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ time qualification ได้ที่ https://www.baa.org/races/boston-marathon/enter/qualify
การทำ charity นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับนักวิ่งที่ยังไม่สามารถทำ time qualification ได้ โดยนักวิ่งจะต้องทำการสมัครกับหน่วยงานการกุศลที่มีอยู่ในลิสต์ของเวบไซต์ BAA https://www.baa.org/races/boston-marathon/charity-program
แม้ว่ายอดบริจาคขั้นต่ำต่อ 1 บิบ ตามที่ BAA กำหนดไว้ คือ $5,000 อย่างไรก็ดี องค์กรการกุศลก็พยายามผลักดันให้นักวิ่งหาเงินบริจาคให้มากกว่านั้น บางองค์กรมีการให้กรอกใบสมัคร เขียน essay เกี่ยวกับกลยุทธในการหาเงิน รวมถึงการสัมภาษณ์นักวิ่งเกี่ยวกับประสบการณ์ในการทำ charity เพื่อให้มั่นใจว่า เราจะเป็นคนที่หาเงินเข้าองค์กรของเค้าได้มากที่สุดจริงๆ
ในปี 2023 แต่ละ charity ก็ได้มีการกำหนดยอดเงินบริจาคขั้นต่ำ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ $10,000-$12,000
ผมเข้าร่วมวิ่ง Boston Marathon 2016 ด้วยการทำ charity กับ Michael’s Miracle สามารถอ่านเรื่องรางรายละเอียด การทำ charity ของ Boston Marathon ได้ที่นี่
แม้ว่าแพคเกจจะราคาสูง เนื่องจากโรงแรมใน Boston ในสัปดาห์ Boston Marathon จะราคาแพงมากๆ แต่เมื่อเทียบกับจำนวนเงินที่อาจจะออกจากกระเป๋าพอๆ กัน แต่มีโรงแรมรวมมาให้ ก็นับว่าเป็นอีกทางเลือกที่คุ้มกว่าการทำ charity
Boston Marathon ให้สิทธิ์การขายกับ official tour operator โดยแบ่งโควต้าไปตามประเทศ การซื้อแพคเกจจาก operator ที่ไม่ได้รับสิทธิ์การขาย เป็นการลงทะเบียนข้ามโควต้าประเทศ ซึ่ง Boston Marathon มีการตรวจสอบ และอาจจะทำบิบโดนแบนได้
ตรวจสอบรายชื่อ official tour operator ผู้ได้รับสิทธิ์การขายอย่างถูกต้องได้ที่ > https://www.baa.org/races/boston-marathon/plan/international-tour-program
ยังมีวิธีปลีกย่อยเล็กๆ น้อยๆ สำหรับการเล็ดลอดเข้าไปวิ่ง Boston Marathon ผมได้เคยเขียนเกี่ยวกับ วิธีที่จะได้เข้าไปวิ่ง Boston Marathon แบบไม่ได้ใช้ time qualification ไว้ วิธีปลีกย่อยเหล่านี้อาจจะไม่ได้เป็นหนทางสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่แค่อยากให้รู้ว่า มันไม่ได้มีแค่ time qualification กับ charity เท่านั้นสำหรับ Boston Marathon
การเดินทางและการเลือกที่พัก
การเดินทางมาเมือง Boston สามารถบินมาลงที่สนามบิน Boston Logan Airport (BOS) แต่ก็มีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะบินมาลง New York เพื่อเที่ยวก่อนแล้วค่อยเดินทางมา Boston ด้วยรถบัสหรือรถไฟ (4 ชั่วโมง) ก็นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
การเดินทางจากสนามบินเข้าเมืองมีหลายวิธี
- นั่ง free shuttle ที่เขียนว่า Blue Line จากหน้า terminal มาลงที่ป้าย subway Airport สายสีน้ำเงิน แล้วนั่ง subway เข้าเมือง
- นั่ง Silver Line (SL1) เป็นรถบัสตรงจากหน้า terminal เข้ามาที่ subway South Station สายสีแดง แล้วนั่ง subway เข้าเมือง ต้องซื้อตั๋วของ Silver Line จากเครื่องขายตั๋ว T ใน terminal ก่อน
- ใช้ shuttle bus ของ Logan Express
- เรียก Uber หรือ Taxi
การเลือกที่พักเวลามาวิ่ง Boston Marathon แนะนำให้พยายามอยู่ไม่ไกลจากจุด Finish หรือในตัวเมือง Boston ไม่มีความจำเป็นที่จะไปหาโรงแรมใกล้จุด Start เพราะอยู่นอกเมือง ไกลมาก และไม่มีอะไรเลย ในวัน ทางงานจะมีรถ shuttle bus จากในตัวเมืองไปส่งที่จุด Start อยู่แล้ว การเดินทางในตัวเมือง Boston ใช้ระบบ subway ชื่อ MBTA หรือเรียกย่อๆ ว่า “T” พยายามหาที่พักที่ใกล้ๆ “T” เดินไม่ไกลจากสถานีเป็นอันใช้ได้ หลีกเลี่ยงย่านที่อันตราย ได้แก่ Roxbury (subway สีส้มหลังจากป้าย Ruggles เป็นต้นไป) หรือย่าน Dorchester (subway สีแดงหลังจากป้าย JFK/UMass ไปจนถึง Ashmont/Mattapan) ย่านที่แนะนำได้แก่ Back Bay, Brookline, Cambridge, Somerville, Malden
จุด start อยู่ที่เมือง Hopkinton
จุด finish อยู่ที่ Copley Square บริเวณหน้า Boston Public Library
งาน expo จัดขึ้นที่ Hynes Convention Center
มาราธอนในเมืองผู้ดี
จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1981 นับเป็นมาราธอนที่ lotto ยากที่สุด ในปี 2019 มีผู้สมัครมากถึงกว่า 4 แสนคน ทำให้อัตราการได้ lotto คิดเป็นประมาณเพียง 4% เท่านั้น เส้นทางวิ่งผ่านเริ่มต้นทาง Greenwich เลียบแม่น้ำ Thames ความยิ่งใหญ่ที่เป็น highlight ของงานน่าจะอยู่ตอนที่วิ่งข้าม Tower Bridge ก่อนที่จะผ่าน London Eye และ Big Ben ไปจบที่บริเวณหน้า Buckingham Palace
การแข่งขันจะเกิดในวันอาทิตย์ที่สี่ของเดือนเมษายนของทุกปี
Website: https://www.tcslondonmarathon.com/
Facebook: @londonmarathon
Instagram: @londonmarathon
ค่าสมัคร: £49 สำหรับนักวิ่งสัญชาติ UK, £146 สำหรับนักวิ่งต่างชาติ
วิธีคัดเลือกเข้าแข่งขัน
หลังจากการแข่งขัน London Marathon จบลง จะเปิดให้ทำการสมัคร lotto สำหรับปีถัดไประยะเวลาเปิดรับสมัครประมาณ 1 สัปดาห์เท่านั้น ส่วนผลการจับฉลากจะถูกแจ้งภายในเดือนตุลาคม อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.tcslondonmarathon.com/enter/how-to-enter/international-entry
เป็นแพคเกจที่รวมบิบ และโรงแรม โดยราคาของแต่ละโรงแรมก็จะแตกต่างกันไป อยู่ในช่วงประมาณ 70,000 – 120,000 บาท ต่อแพคเกจ ซึ่งโดยรวมก็อาจจะคุ้มกว่าการทำ charity แล้วบวกกับค่าใช้จ่ายโรงแรม
แพคเกจบิบพร้อมโรงแรมสำหรับ TCS London Marathon โดย Official Operator ที่ได้รับสิทธิ์การขายอย่างถูกต้องในประเทศไทย: https://letsrun.world/london-marathon-2024/
มีชื่อว่า Good for Age เป็นการสมัครแบบ time qualify สำหรับนักวิ่งสัญชาติ UK เท่านั้น อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.tcslondonmarathon.com/enter/how-to-enter/good-for-age-entry
London Marathon เป็นงานมาราธอนที่มียอดเงินในการทำ charity สูงที่สุดในโลก ด้วยอัตราการได้ lotto ที่ต่ำมากๆ แม้ว่าจะเป็นสำหรับนักวิ่งชาวอังกฤษเอง และก็เหมือนเป็นธรรมเนียมของคนอังกฤษที่เป็นที่รู้กันว่างานมาราธอนนี้มีจุดประสงค์หลักเพื่อการกุศล จึงมีนักวิ่งจำนวนมากที่เลือกทำ charity กับ London Marathon
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.tcslondonmarathon.com/charity-info/resources-for-charities
British Athletic Club
วิธีนี้คือผ่านทางชมรมวิ่งต่างๆ ในอังกฤษ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.tcslondonmarathon.com/enter/how-to-enter/british-athletics-club-entry
Championship Entry
อันนี้คือสำหรับนักวิ่งที่ระดับแชมป์ในอังกฤษ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.tcslondonmarathon.com/enter/how-to-enter/championship-entry
Wheelchair Entry
สำหรับประเภท wheelchair มีเวลาขั้นต่ำสำหรับ time qualification เช่นกัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.tcslondonmarathon.com/enter/how-to-enter/participants-with-disabilities
สำหรับ London แล้ว ค่าที่พัก ค่าครองชีพสูงมากๆ ความเห็นส่วนตัวของผมคิดว่าสูงที่สุดในบรรดา 6 เมืองของ World Majors ทั้งหมด โรงแรมหรือที่พักควรจะจองล่วงหน้าแต่เนิ่นๆ (ถ้าคิดจะไปวิ่ง) จองไว้ตั้งแต่ก่อนจะประกาศผล lotto เลย เพราะหลังจากประกาศผล lotto แล้ว คนที่ได้ lotto จะเฮกันไปจองโรงแรม ทำให้ราคาของโรงแรมพุ่งสูงขึ้นเป็นสองเท่าไปอีก พยายามเลือกโรงแรมที่อยู่ในการเดินทาง Zone 1, Zone 2 … คือถ้าอยากราคาถูกกว่านั้นจะออกไป Zone 3 ก็พอไหวอยู่ แต่ผมคิดว่าอาจจะเหนื่อยกับการเดินทางพอสมควร
การเดินทางและการเลือกที่พัก
จากสนามบิน Heathrow สามารถเดินทางเข้าเมืองได้ด้วย Heathrow Express หรือ subway ธรรมดา ซึ่งราคาถูกกว่าถ้าไม่รีบ
สำหรับ London แล้ว ค่าที่พัก ค่าครองชีพสูงมากๆ น่าจะสูงที่สุดในบรรดา 6 เมืองของ World Majors
การเดินทางในเมืองใช้ระบบ subway และรถเมล์เป็นหลัก เพื่อความสะดวก พยายามเลือกโรงแรมที่อยู่ในการเดินทาง Zone 1 หากต้องการประหยัดค่าที่พัก อาจจะขยับไปหาโรงแรมที่ราคาถูกกว่าใน Zone 2 ได้ แต่ก็อาจจะเสียเวลาในการเดินทางเพิ่มขึ้น ส่วนโรงแรมที่อยู่ใน Zone 3 น่าจะเหนื่อยกับการเดินทางพอสมควรเพื่อเข้าเมือง
จุด start ของ London Marathon อยู่บริเวณ Greenwich Park แบ่งตามสีทั้งหมด 3 zone เพื่อลดความแออัด จุด start ทั้ง 3 zone จะไหลมาบรรจบกันประมาณกี่โลเมตรที่ 3
จุด finish ของ London Marathon คือ The Mall หน้า Buckingham Palace
งาน London Marathon Expo จัดขึ้นที่ The ExCel London
สนามแห่งสถิติโลก
Berlin เป็นสนามที่นักวิ่งแนวหน้าหวังว่าจะมาทำสถิติกัน เนื่องจากเป็นสนามที่ค่อนข้าง flat ในปี 2022 Eliud Kipchoge ได้สร้างสถิติโลกใหม่สำหรับ full marathon ที่เวลา 2:01:09 โดยทำลายสถิติของตัวเองที่สนามนี้ในปี 2018 ด้วยเวลา 2:01:39 เส้นทางวิ่งเริ่มต้นที่บริเวณ Tiergarten ผ่านอนุสาวรีย์ Angel of Peace, Reichstag, the Berlin Dom, Strausberger Platz นับเป็นการวิ่งทัวร์รอบเมืองก่อนที่จะเข้าเส้นชัยแบบยิ่งใหญ่ด้วยการวิ่งผ่าน Brandenburg Gate กลับมาจบที่บริเวณ Tiergarten เหมือนเดิม
การแข่งขันจะเกิดในวันอาทิตย์ปลายเดือนกันยายนของทุกปี
Website: https://www.bmw-berlin-marathon.com/en/
Facebook: @berlinmarathon
Instagram: @berlinmarathon
ค่าสมัคร: €163
วิธีคัดเลือกเข้าแข่งขัน
ปกติจะเปิดให้สมัครประมาณกลางเดือนตุลาคมจนถึงต้นเดือนพฤศจิกายน และประกาศผลไม่เกินต้นเดือนธันวาคม มีให้เลือกทั้งแบบ lotto เดี่ยวและแบบ lotto ทีม โดยต้องเลือกสมัครแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น ถ้าได้ lotto แบบทีมแล้วมีใครคนใดคนนึงในทีมเปลี่ยนใจไม่ไป ก็ถือว่าสละสิทธิ์เป็นรายคน คนอื่นๆ ในทีมก็ยังมีสิทธิ์วิ่ง เหมาะสำหรับนักวิ่งที่คิดว่าจะไปด้วยกัน
สำหรับนักวิ่งที่ใช้ time qualification
ชาย: ต่ำกว่า 2:45 ชั่วโมง หรือต่ำกว่า 2:55 ชั่วโมง สำหรับนักวิ่งอายุมากกว่า 45 ปี
หญิง: ต่ำกว่า 3:00 ชั่วโมง หรือต่ำกว่า 3:20 ชั่วโมง สำหรับนักวิ่งอายุมากกว่า 45 ปี
แพคเกจบิบพร้อมโรงแรมสำหรับ BMW BERLIN-MARATHON โดย Official Operator ที่ได้รับสิทธิ์การขายอย่างถูกต้องในประเทศไทย: https://letsrun.world/berlin-marathon-2024/
การทำ charity นักวิ่งต้องสมัครกับองค์กรการกุศลและพยายามหาเงินบริจาคให้ได้อย่างต่ำ €750-1,000 นับว่าเป็นราคาทำ charity ที่ถูกที่สุดใน 6 world majors
การเดินทางและการเลือกที่พัก
สามารถบินมาลงที่สนามบิน Berlin หรือจะบินมาลงที่ Munich หรือ Frankfurt แล้วเดินทางต่อมาด้วยรถไฟก็ได้
การเข้าประเทศ Germany ใช้วีซ่าเชงเก้น ซึ่งสามารถทำล่วงหน้าก่อนเดินทางได้ 180 วัน
แนะนำที่พักย่าน Berlin Hauptbahnhof, Hackescher Markt, Alexanderplatz
จุด start/finish อยู่บริเวณ Großer Tiergarten ระหว่าง Brandenburg Gate และ Victory Column
งาน expo จัดขึ้นที่สนามบิน Tempelhof
สนาม World Major ที่เรียบที่สุด
นับเป็นสนามที่เรียกได้ว่า flat ที่สุดใน 6 World Majors เคยมีนักวิ่งมาทำสถิติโลกที่สนามนี้ทั้งหมด 4 ครั้ง เส้นทางวิ่งเริ่มจาก Grant Park วนผ่านทั้งหมด 29 ย่านในเมือง Chicago ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดเมืองหนึ่งในสหรัฐอเมริกา
การแข่งขันจะเกิดในวันอาทิตย์ที่สองของเดือนตุลาคมของทุกปี
Website: https://www.chicagomarathon.com/
Facebook: @chicagomarathon
Instagram: @chimarathon
ค่าสมัคร: $230 สำหรับนักวิ่งอเมริกัน $240 สำหรับนักวิ่งต่างชาติ
วิธีคัดเลือกเข้าแข่งขัน
ปกติแล้วจะเปิดให้สมัคร lotto ประมาณปลายเดือนตุลาคมจนถึงต้นเดือนพฤศจิกายน และประกาศผล lotto ประมาณเดือนธันวาคม
Chicago Marathon เป็นงานที่นักวิ่งมีโอกาสการได้ lotto สูงที่สุดใน 6 world majors
Time qualification ของ Chicago Marathon เปิดรับสมัครประมาณเดือนพฤศจิกายน โดยมีแบ่งเวลาตามรุ่นอายุดังต่อไปนี้
จำนวนเงิน charity ขั้นต่ำคือ $1,250 และอาจจะสูงถึง $1,750
อ่านเพิ่มเติมและดูรายชื่อขององค์กรการกุศลได้ที่ https://www.chicagomarathon.com/apply/ ภายใต้หัวข้อ charity entry
แพคเกจบิบพร้อมโรงแรมสำหรับ Bank of America Chicago Marathon จาก Official Tour Operator ที่ได้รับสิทธิ์การขายอย่างถูกต้องตามกฎหมายในประเทศไทย: https://letsrun.world/chicago-marathon-2024/
American Development Program
เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะได้ guaranteed entry ผ่านทาง American Development Program สำหรับผู้ที่มีเวลาดังต่อไปนี้ แม้ว่าจะเป็นโปรแกรมสำหรับนักกีฬาอเมริกัน แต่นักวิ่งต่างชาติที่ทำเวลาได้ต่ำกว่าที่กำหนดก็มีสิทธิ์สมัครผ่านโปรแกรมนี้เช่นกัน
อ่านเพิ่มเติมที่ https://www.chicagomarathon.com/apply/ ในหัวข้อ American Development Program
การเดินทางและการเลือกที่พัก
การเดินทางมา Chicago มีอยู่ 2 สนามบิน คือ O’Hare (ORD) และ Midway (MDW) โดย O’Hare เป็นสนามบินนานาชาติที่ใหญ่กว่า แต่ก็เป็นไปได้ที่อาจจะมีไฟลท์ไปลงที่อื่นใน USA ก่อนแล้วต่อ connection มาลง Midway (Midway อยู่ใกล้ตัวเมือง Chicago มากกว่า O’Hare) แต่จากทั้ง 2 สนามบิน เราสามารถนั่งรถไฟ Blue Line เข้าเมืองได้เลย ระบบรถไฟของ Chicago ชื่อ CTA
การจองที่พัก แนะนำให้พยายามอยู่ใน downtown หรือที่เรียกว่า “loop” เพราะว่าค่อนข้างจะปลอดภัย เดินทางสะดวก และอยู่ใกล้จุด start/finish แต่ถ้าอยากจะประหยัดหน่อย ก็พยายามเลือกโรงแรมขึ้นไปทางตอนบนของ Chicago เช่น Lincoln Park, Lake View เป็นต้น พยายามหลีกเลี่ยงย่านที่อาชญากรรมสูง เสี่ยงอันตราย เช่น ทางตะวันตกของ Chicago (Garfield Park) หรือทางตอนใต้ที่ต่ำกว่า Chinatown ลงไป
จุด start/finish อยู่ที่บริเวณ Grant Park
- พิกัดจุด start https://goo.gl/maps/PCvWMSN7T8hkAMV98
- พิกัดจุด finish https://goo.gl/maps/XzcjsmViGKiDAUdv6
งาน expo จัดขึ้นที่ McCormick Place
มาราธอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก
จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1970 โดยครั้งนั้นมีผู้เข้าแข่งขันเพียง 127 คน และค่าสมัครเพียง $1 เท่านั้น (แต่ตอนนี้กลับเป็นมาราธอนที่ค่าสมัครแพงที่สุดใน 6 World Majors)
เส้นทางวิ่งผ่าน 5 ย่าน (5 boroughs) ของ New York City วิ่งข้าม 5 สะพาน โดยเริ่มต้นจาก Staten Island วิ่งข้าม Verrazano Bridge ซ่งเป็น elevation ที่สูงที่สุดในเส้นทางวิ่ง มาที่ Brooklyn ผ่านเข้า Queens ข้ามสะพาน Queensboro มาใน Manhattan เป็นเนินซึมๆ ตลอด 1st Avenue จนไปถึง Bronx แล้ววนกลับเข้า Manhattan มาจบที่เส้นชัยใน Central Park ด้วยความที่เป็นเมืองที่ไม่เคยหลับใหล และเป็นงานมาราธอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก (นักวิ่งมากกว่า 5 หมื่นคน) ทำให้ NYC เป็นอีกงานใน bucket list ของใครหลายๆ คน
การแข่งขันจะเกิดในวันอาทิตย์แรกของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี
Website: https://www.nyrr.org/tcsnycmarathon
Facebook: @nycmarathon
Instagram: @nycmarathon
ค่าสมัคร: $255 สำหรับสมาชิก NYRR, $295 สำหรับนักวิ่งอเมริกัน, $358 สำหรับนักวิ่งต่างชาติ
วิธีคัดเลือกเข้าแข่งขัน
ปกติจะเปิดให้สมัคร lotto กันประมาณกลางเดือนมกราคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ และประกาศผลให้ทราบประมาณเดือนมีนาคม โดยจะตัดเงินจากบัตรเครดิตทันทีเมื่อจับฉลากได้
การใช้ time qualification แบ่งเป็นตามรุ่นอายุ โดยนำ gun time จากการแข่งขัน full marathon หรือ half marathon ที่เป็น AIMS หรือ USATF มายื่นได้ เป็นการสมัครแบบ first come, first served โดยจะให้สิทธิ์ผู้ที่นำเวลาจากงานวิ่งที่จัดโดย NYRR มายื่นก่อน
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nyrr.org/tcsnycmarathon/runners/marathon-time-qualifiers
เป็นอีกวิธีที่เหมาะสำหรับเพื่อนๆ ที่อาศัยอยู่ใน New York คำว่า 9+1 หมายถึงเราจะต้องลงแข่ง qualifying race ที่จัดโดย NYRR (ระยะไหนก็ได้) เป็นจำนวน 9 งาน และทำ volunteer ใน race ไหนก็ได้อีก 1 งาน หรือบริจาคเงิน $1,000 แทนการทำ volunteer ก็จะทำให้เราสามารถสมัคร New York City Marathon แบบ guaranteed entry ได้เช่นกัน
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nyrr.org/run/guaranteed-entry/tcs-new-york-city-marathon-9plus1-program
เมื่อไม่นานมานี้ ทาง NYRR ได้เพิ่มโอกาสให้กับนักวิ่งที่วิ่ง virtual race ของ New York City Marathon โดยผู้ที่สมัคร virtual race แบบรับ guaranteed entry ในปีถัดไป ก็จะได้รับ entry ในปีถัดไปเมื่อวิ่ง virtual race จบ
แต่การสมัคร virtual race แบบรวม guaranteed entry ของปีหน้า มีจำกัด และหมดลงอย่างรวดเร็ว
การทำ charity สำหรับ New York City Marathon อยู่ที่ประมาณ $2,000
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.nyrr.org/tcsnycmarathon/runners/charities
แพคเกจบิบพร้อมโรงแรมสำหรับ TCS New York City Marathon โดย Official Operator ที่ได้รับสิทธิ์การขายอย่างถูกต้องในประเทศไทย: จะเปิดขายประมาณต้นปี 2024 สามารถลงทะเบียน waiting list ได้ที่ https://letsrun.world/waiting-list/
การเดินทางและการเลือกที่พัก
การเดินทางมา New York สามารถลงได้ 3 สนามบิน คือ JFK, LaGuardia (LGA), หรือ Newark (EWR) การเดินทางใน New York ใช้ระบบรถไฟใต้ดิน MTA เพื่อความสะดวกในการเดินทางไปจุด Start แนะนำให้เลือกพักในบริเวณ Manhattan หรือจะหาที่พักที่ราคาถูกลง ไปอยู่ฝั่ง Queens/Brooklyn แล้วยอมเสียเวลาเดินทางเพิ่มอีกนิดหน่อย ก็อาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง หรือจะข้ามไปหาโรงแรมฝั่ง New Jersey แล้วนั่งรถไฟ PATH เข้ามาใน New York (ไปกลับประมาณ $5-6) พยายามหลีกเลี่ยงย่านอันตราย เช่น Harlem หรือ Bronx
จุด start อยู่ที่ฝั่ง Staten Island บริเวณ Verrazano Bridge
จุด finish อยู่ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของ Central Park
งาน expo จัดขึ้นที่ Javits Center
นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ยังมีโอกาสที่เราจะได้บิบของงาน World Major ที่ 6 ด้วยการจับ lotto ของ Abbott ซึ่งเปิดโอกาสให้นักวิ่งที่วิ่งครบ 5 สนาม และขาดสนามที่ 6 เพียงสนามเดียว อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.worldmarathonmajors.com/prize-draw-terms-and-conditions/
มาสรุปอีกทีถ้าพูดถึงเรื่อง time qualifications ตารางนี้จะทำให้เราเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น
การ Register ดาวกับ Abbott
หลังจากที่เราวิ่งจบงาน World Major แต่ละงาน สถิติของเราจะถูกเก็บไว้ เราจะต้องทำการลงทะเบียนสร้าง account กับ Abbott ที่ https://www.worldmarathonmajors.com/ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ระบบจะทำการ match ชื่อ นามสกุล วันเกิด ของเรา แต่ถ้าเราไม่เห็นผลวิ่งที่เราเคยวิ่ง เราสามารถกดปุ่ม claim โดยแจ้งชื่องานมาราธอนและปีที่เราได้วิ่งไป
หลังจากการวิ่งในแต่ละ race ใช้เวลาไม่นาน ระบบจะทำการ update ผล ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผลจะถูกแสดงขึ้นมาใน account ของเราอัตโนมัติ
เมื่อเราวิ่งครบ 5 รายการ และกำลังจะวิ่งรายการที่ 6 เราจะต้องอีเมลแจ้งไปทาง Abbott เพื่อที่จะได้รับเหรียญ Six Star Finisher หลังจบรายการที่ 6 ทันที… อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.worldmarathonmajors.com/everyday-champions/six-star-finishers/
ต่อไปนี้… เป็นความเห็นส่วนตัวของผมล้วนๆ ซึ่ง… ความเห็น ก็คือความเห็น… ซึ่งอาจจะแตกต่างจากความเห็นของคนอื่นๆ แต่มีหลายคนชอบถามคำถามเหล่านี้ ผมก็คิดซะว่า ตอบคำถามเป็นความเห็นส่วนตัวของผมให้ฟังละกัน
สนามไหนวิ่งยากสุด? Boston สิจ๊ะ เนินไม่จบไม่สิ้น… แล้วที่เค้าบอกว่าหลังจาก Heartbreak Hill แล้วไม่มีเนินน่ะ… ไม่จริงนะ ยังมีเนินซึมๆ ใน Brookline อีกเยอะ… ยากรองลงมาก็คงให้ New York เจอไป 5 สะพาน ขาพังกันไป…
สนามไหนวิ่งง่ายสุด? ผมคิดว่าสำหรับผมคือ Chicago นะ มันเรียบจนไม่รู้จะเรียบยังไงแล้ว คือถ้าให้เทียบกับ Berlin ซึ่งไปสนามที่ใครต่อใครหวังไปทำสถิติกัน… ผมยังคิดในใจ… ทำไมไม่มาทำสถิติที่ Chicago ล่ะ มันง่ายกว่า Berlin อีกนะ
สนามไหน lotto ง่ายสุด? Chicago เลยจ้า… มีเพื่อน 10 คน ก็เห็นได้ lotto กันทั้ง 10 คนเลยนะ… เอางี้ แทบจะไม่เคยเห็นคนแห้ว lotto Chicago เลย… คนที่แห้วนี่อาจจะดวงคุด แต้มบุญไม่พอจริงๆ…
สนามไหน lotto ยากสุด? London เลยจ้า… สมัครมา 3-4 ปีไม่เคยได้เลย รองลงมาน่าจะเป็น Tokyo นะ…
กองเชียร์ที่ไหนมันส์สุด? ผมยกให้ Tokyo นะคับ
ชอบสนามไหนที่สุด? มันก็ต้อง Boston สินะ จำนวนคนวิ่งและกองเชียร์ไม่ได้เยอะที่สุด การจัดการไม่ได้ดีที่สุด แต่มันขลังสุด ส่วนตัวแล้ว Boston ก็เหมือนบ้านหลังที่สอง… มันมีความผูกพัน ยังไงก็ชอบที่นี่ที่สุด
การจัดการของสนามไหนดีที่สุด? อันนี้ขอยกให้ New York นะครับ การจัดการทุกอย่าง เป๊ะมากๆ ดีที่สุดใน 6 World Majors แบบชนะขาดใสๆ เลย อันนี้พูดจริงๆ
ชอบเหรียญของสนามไหนที่สุด? Boston แน่นอน… Unicorn มันมีความขลังของมันในตัวอยู่แล้ว
มาถึงจุดนี้… ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับเพื่อนๆ ที่มีเป้าหมาย มีความฝัน… เป้าหมายของเราอาจจะไม่ได้เหมือนเป้าหมายของใคร ฝันของเราอาจจะไม่ได้เหมือนฝันของใคร… ถ้าเราตั้งเป้าหมายแล้ว จงใช้ความพยายาม พาตัวเองไปถึงเป้าหมายให้ได้ แน่นอนว่าระหว่างทางมันจะมีอุปสรรคมากมาย มีเสียงคนรอบข้างมากมาย จงจำไว้เสมอว่า… การใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ จะมีความเห็นของคนรอบข้างอยู่ 3 แบบ คือ
- กลุ่มคนที่ให้กำลังใจและสนับสนุนเรา… เราจงยิ้มและขอบคุณพวกเค้า ที่ส่งต่อพลังงานดีๆ มาให้เรา เป็นแรงผลักดันให้เราสู้ต่อ แต่อย่าหลงระเริงไปกับคำชมและเยินยอ
- กลุ่มคนที่อยู่เฉยๆ ไม่ได้เห็นดีเห็นร้ายอะไรกับเรา… จริงๆ แล้วส่วนตัวผมชอบนะ มันทำให้เรามีสมาธิทำในสิ่งที่เราตั้งใจจะทำ พวกเค้าไม่ต้องแสดงความเห็นอะไร
- กลุ่มคนที่อาจจะไม่ชอบในสิ่งที่เราทำ ดูถูกเรา ด่าเรา อิจฉาเรา หรือส่งพลังงานที่เป็นลบมาให้เรา… จงยิ้มให้กับพวกเค้า ไม่ต้องเสียเวลาไปตอบโต้… เอาเวลาที่จะไปตอบโต้พวกเค้า มาฝึกซ้อม ฝึกฝนในสิ่งที่เรากำลังจะตั้งใจทำดีกว่า อย่าเผลอให้สายตาละไปจากเป้าหมาย เพราะสุดท้ายแล้ว ตัวเรานี่แหละ ที่รู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่
เป็นกำลังใจให้กับทุกๆ คนนะครับ
#วิ่งรอบโลก 🌎🏃
Pingback: New World Major Candidate - Cape Town Marathon - วิ่งรอบโลก: Running the World
บรรยายสรุปได้ดีครับ พอจะเห็นภาพคร่าวๆ มีคำถาม
1. ถ้าสถิติไม่ถึง Quailified Time, ไม่เข้า Charity ก็ต้อง Lottoเท่านั้น นานสุดกี่ปีถึงจะได้ครับ?
2. Elev. gain vs ความยาก เทียบกันไม่ได้ ถูกมั้ยครับ? เช่น Chicago vs Berlin?
3. ความฝัน ก็ต้องใช้เงิน ถูกมั้ยครับ? (นอกจาก โอกาส กับ สถิติ)
4. ชื่นชมกับคุณเชษฐ์ที่มุ่งมั่นกับเป้าหมาย และต่อยอดโอกาสทางธุรกิจได้ด้วย
5. ข้อนี้ต้องถาม ซ้อมเป๊ะขนาดไหน จึงวิ่ง Full back2back หลายงานได้ ไม่มีอาการเลยหรือครับ?