ทรานส์มองโกเลีย – นั่งรถไฟเที่ยวหลังจากวิ่งมาราธอน

mongolia-cover-image

ทางรถไฟสายทรานส์มองโกเลีย เป็นเส้นที่แยกออกมาจากทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย ที่เมือง Ulan-Ude ตรงไปยัง Ulaan-Baatar เมืองหลวงของประเทศมองโกเลีย แล้วไปจบปลายทางที่เมืองปักกิ่ง ประเทศจีน

ความเดิมต่อจากตอนที่ 1: ทรานส์ไซบีเรีย – นั่งรถไฟไปวิ่งมาราธอน

DAY 12: IRKUTSK (Иркутск)

Irkutsk Train Station
Irkutsk Train Station

เช้าวันที่ 12 ของทริปเราตื่นเช้าอาบน้ำแต่งตัวแล้วรีบลากกระเป๋าจาก hostel มาที่สถานีรถไฟ Irkutsk วันนี้เราลองเลือกเป็นรถไฟชั้น 1 ดูบ้าง อยากรู้ว่าประสบการณ์บนรถไฟชั้น 1 มันจะเป็นยังไง หรูหราแค่ไหน… รถไฟขบวนนี้ออกจากเมือง Irkutsk ผ่านเมือง Ulan-Ude เปลี่ยนเป็นทางรถไฟสาย Trans-Mongolia… ตั้งแต่นั่งรถไฟ Trans-Siberia, Trans-Mongolia ผมคิดว่าเส้นนี้เป็นช่วงที่วิวข้างทางสวยที่สุดและหลากหลายที่สุด มีเส้นทางที่เลียบทะเลสาบ Baikal ผ่านป่าสน ผ่านทุ่งหญ้าแบบ Siberian ผ่านหมู่บ้านเล็กๆ ผ่านฟาร์มปศุสัตว์การได้ดูพระอาทิตย์ตกบนรถไฟ Trans-Siberia วันนี้ถือว่าเติมเต็มความฝันเรียบร้อยแล้ว

train to Ulan-Ude
ระหว่างทางจาก Irkutsk ไป Ulan-Ude

ในช่วงค่ำรถไฟมาหยุดที่ Naushki เพื่อผ่าน ตม. ขาออกของรัสเซีย 2 ชม จากนั้นรถไฟก็เคลื่อนขบวนมาได้ซักพักและหยุดที่ Sukhe-Baatar เพื่อผ่าน ตม. ขาเข้าของมองโกเลียอีก 2 ชม… เราได้นอนน้อยมาก เจ้าหน้าที่ล็อคโบกี้รถไฟและตรวจค้นอย่างละเอียดทีละตู้ ทั้งสองที่เลย… ของพวกเราง่ายหน่อยเพราะถือพาสปอร์ตไทยซึ่งสามารถเข้าออกประเทศรัสเซียและมองโกเลียได้แบบไม่ต้องมีวีซ่า เราเลยไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ขอตรวจค้นกระเป๋าเสื้อผ้าอย่างละเอียด (เดาว่าตรวจหายาเสพติดหรือของผิดกฎหมาย) พอเห็นเหรียญมาราธอนของเรา เค้าก็รู้ว่าเรามาวิ่ง มาเที่ยว ก็แค่ถามว่าเราจะไปเที่ยวที่ไหนต่อ อีกกี่วัน รายละเอียดเป็นยังไง เราก็เอาเอกสารจองทัวร์ให้เค้าดู แล้วก็มีรายละเอียดการจองตั๋วเครื่องบินขาออกจากมองโกเลีย เป็นอันว่าเรียบร้อย… เราหวังว่าจะได้หลับยาว ตื่นอีกทีพรุ่งนี้เช้าเจอกันที่ Ulaan-Baatar ครับ

DAY 13: ULAAN-BATAAR (Улаанбаатар)

ลืมรีวิวตู้รถไฟชั้น 1 ของมองโกเลีย มันเก่ามากๆ แต่สะอาด ก็ดูหรูหราดี เป็นความหรูหราแบบโบราณ เบาะและผนังห้องบุด้วยกำมะหยี่ ไม่ได้มีอะไรพิเศษ รู้สึกว่ารถไฟชั้น 2 ของรัสเซียยังทันสมัยกว่าเลย เอาเป็นว่าซื้อประสบการณ์ เพราะวิวตลอดสองข้างทางได้ชดเชยทุกสิ่งอย่างไปหมดแล้ว

first class train to Ulaan-Baatar
ในห้อง first class ของรถไฟมองโกเลีย

เรามาถึงสถานี Ulaan-Baatar ในช่วงเช้า เรียกแท้กซี่เพื่อเอากระเป๋าไปเก็บที่ hostel… เป็น hostel ที่ง่ายๆ ไม่ซีเรียส เค้าเลยให้เราเช็คอิน อาบน้ำ แถมยังทำอาหารเช้าให้เราทานอีกด้วย หลังจากทานอาหารเช้า เราก็แอบงีบเล็กน้อยเพราะเมื่อคืนนอนไม่ค่อยเต็มอิ่ม

Ulaan-Baatar Station
สถานี Ulaan-Baatar

ในช่วงสายๆ เราเดินจาก hostel เข้าไปใจกลางตัวเมือง มีห้างสรรพสินค้าชื่อ State Department Store ซึ่งเดาว่าเป็นของรัฐ เรามาที่นี่เพื่อซื้อซิมมือถือ เนื่องจาก global sim จากอเมริกาที่ผมใช้ครอบคลุมประมาณ 120 ประเทศ แต่ไม่รวมมองโกเลีย เรายังพยายามศึกษาวิธีการเดินทางในตัวเมือง พนักงานที่ร้านมือถือแนะนำให้โหลดแอพชื่อ UB Smart Bus เพื่อดูเส้นทางและตารางเวลารถบัสใน Ulaan-Baatar

mobile data in Mongolia
สิ่งแรกที่เราทำในมองโกเลีย

จากห้างสรรพสินค้า เราเดินมาที่ใจกลางเมืองเพื่อนัดเจอกับเพื่อนชาวมองโกเลียชื่อ Tsetsee (ซีซี่) บริเวณ Sükhbaatar Square เป็นเหมือนอาคารรัฐสภาหรือศาลาว่าการ มีรูปปั้นของเจงกิสข่านอยู่ด้านหน้า ลานตรงกลางมีอนุสาวรีย์ขี่ม้าของ Sükhbaatar ซึ่งเป็นวีรบุรุษผู้กอบกู้ชาติของมองโกเลีย

Sükhbaatar Square
Sükhbaatar Square

แม้ว่าจะโหลดแอพรถบัสมา แต่ซีซี่เพื่อนของผมไม่เคยใช้เลย ซีซี่ดูเป็นเหมือนลูกคุณหนูของเศรษฐีใน Ulaan-Baatar ไปไหนมาไหน ก็จะเรียกแท้กซี่ตลอด ซีซี่บอกว่ามันสะดวกและราคาถูกมาก แท้กซี่ใน Ulaan-Baatar ก็คือคนที่ขับรถในถนนทั่วไป ไม่มีมิเตอร์ ไม่มีสัญลักษณ์ใดๆ ว่าเป็นแท้กซี่ พูดง่ายๆ คือถ้าเราขับรถอยู่ แล้วเจอคนโบกมือข้างทาง เราอยากจะรับก็รับ แล้วก็ตกลงราคากันเอาเอง มื้อกลางวันซีซี่พามาทานอาหารมองโกเลีย ส่วนใหญ่ก็ทำจากเนื้อ แพะ แกะ และเครื่องใน รสชาติไม่ค่อยถูกปากเท่าไหร่ แต่ก็แปลกใหม่ดี ร้านที่ซีซี่พาไปก็มีความหรูระดับนึงเลยทีเดียว มีพวกข้าราชการระดับสูงและนักการเมืองมาทานกลางวันกัน แต่ละโต๊ะจะจำลองให้เหมือนเรากำลังนั่งทานอยู่ใน ger (สิ่งก่อสร้างของชนเผ่าเร่ร่อน ที่เอาไม้มาสร้างเป็นเหมือนกระโจมที่พักอาศัย และสามารถถอดประกอบย้ายไปเรื่อยๆ ได้ ที่อื่นที่ไม่ใช่มองโกเลียจะเรียกว่า yurt)

mongolian food
มาลองทานอาหาร Mongolian

ในช่วงบ่าย ซีซี่พาเราไป shopping ใน outlet ทีแรกก็ไม่คิดว่าจะซื้ออะไร แต่สุดท้ายได้ก็ได้เสื้อหนาวแคชเมียร์มาฝากแม่ 2 ตัว ราคาไม่แพงเลย จากนั้นเราไปดูคอนเสิร์ต Tumen Ekh เป็นการแสดงดนตรีศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้านแบบมองโกเลีย เป็นอะไรที่แปลกและน่าทึ่งมากๆ การร้องเพลงและใช้เสียงมีความเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร นับว่าเป็นชนชาติที่มีอารยะเก่าแก่อีกชาตินึงเลยทีเดียว

Mongolian Traditional Music Concert
มาดูการแสดงศิลปะวัฒนธรรมแบบมองโกเลีย

ตอนเย็นเรามาทานชาบูเนื้อม้ากันที่ร้าน The Bull Hot Pot ในเมือง Ulaan-Baatar อิ่มอร่อยมากๆ น้ำซุปแบบมองโกเลียมีกลิ่นเครื่องเทศหอมๆ พูดแล้วยังอยากกลับไปทานอีก

horse meat shabu shabu
ชาบูเนื้อม้าที่ร้าน The Bull Hot Pot

DAY 14: MONGOLIA

เช้าวันที่ 14 ของทริป เราซื้อทัวร์จาก Mongolian Vision Tours เป็นแบบ 3 วัน 2 คืน ให้เค้าพาไปเที่ยวนอกเมือง มีโปรแกรมทัวร์ให้เลือกหลายแบบ เราให้เค้าปรับเปลี่ยนตามความต้องการของเราได้ ไกด์และคนขับรถมารับเราตอนเช้า พาไปทานอาหารเช้า แล้วขับออกไปนอกเมือง ถนนหนทางไม่ค่อยดี เป็นหลุมเป็นบ่อตลอดทาง ก็แอบสงสัยว่าในยุคโบราณ เจงกิสข่านเก่งมากๆ รบชนะจนรวบรวมดินแดนอาณาจักรมองโกลได้ยิ่งใหญ่ แต่ตอนนี้ทำไมมองโกเลียถึงกลายเป็นหนึ่งในประเทศด้อยพัฒนาที่ยากจนมากๆ ประเทศหนึ่ง

Genghis Khan Statue
อนุสาวรีย์เจงกิสข่าน

สถานที่แรกเรามาที่อนุสาวรีย์เจงกิสข่าน (Chinggis Khaan Statue Complex) เป็น equestrian statue (อนุสาวรีย์คนขี่ม้า) ที่สูงที่สุดในโลก และนับเป็นอนุสาวรีย์ที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย สร้างด้วยสเตนเลสหนักกว่า 300 ตัน ด้านล่างเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์มองโกเลีย ข้างบนเป็นห้องอาหาร เราสามารถขี้นลิฟต์และบันไดไปชมวิวด้านบนได้ (บริเวณหัวม้า)

Genghis Khan Statue
ภายในอาคารอนุสาวรีย์

จากนั้นเรานั่งรถเข้าไปที่ 13th Century Complex ด้วยการสนับสนุนของการท่องเที่ยวมองโกเลีย เป็นการจำลองการใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 13 ของอาณาจักรมองโกล

13th Century Complex
13th Century Complex

ใน 13th Century Complex ประกอบไปด้วย 6 จุด ได้แก่ 

  • Relay station camp อยู่บริเวณทางเข้า ในอดีตเวลาส่งข่าวส่งสาส์นกัน จะใช้แค้มป์แบบนี้เป็นจุดกระจายข่าว ส่งต่อๆ กันไป เหมือนศูนย์กลางไปรษณีย์ ซึ่งจะมีผู้นำสาส์นขี่ม้าระหว่างแค้มป์
  • Craftsman’s camp แสดงการทำศิลปะหัตถกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ เครื่องประดับ
  • Educational camp ได้ชมประวัติวิวัฒนาการของอักษรในยุคต่างๆ… เค้าเขียนชื่อเราด้วยพู่กันบนกระดาษสาเป็นภาษามองโกเลียโบราณให้ด้วย
  • Herder’s camp แสดงการทำปศุสัตว์ การรีดนม การฝึกม้า การทำหนังสัตว์ ซึ่งในยุคโบราณจะมีม้า อูฐ และยัค
  • Shaman’s camp เป็นความเชื่อและการบูชาวิญญาณและธรรมชาติ ในบางส่วนของแค้มป์ อนุญาตให้แต่ผู้ชายเข้า
  • King’s palace เป็นส่วนหนึ่งของที่พักของเราคืนนี้ ใช้เป็นส่วนกลางห้องอาหารและแสดงการเต้นรำ เราสามารถเปลี่ยนชุดต่างๆ ถ่ายรูปได้
13th Century Complex
13th Century Complex
nomad family
กับเด็กๆ ใน nomad family

ที่พักของเราวันนี้เป็นแบบ luxury ger (อันนี้คือหรูหราของเค้าแล้ว) ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีห้องน้ำข้างใน เราต้องเดินออกมาอาบน้ำที่ห้องอาบน้ำรวมด้านนอก ภายใน ger ที่บอกว่า luxury ก็มีเตาผิงอยู่ตรงกลาง ซึ่งพนักงานจะมาจุดไฟให้ความอบอุ่นในเวลากลางคืน มีตั่งที่นอนพร้อมฟูกอย่างดี ด้านข้างบุด้วยพรม พื้นก็ปูพรมอย่างดี… มื้อเย็นเป็นเวลารับประทานอาหาร นักท่องเที่ยวทุก ger จะมารับประทานอาหารรวมกันใน King’s Palace ซึ่งเป็นเหมือน ger ขนาดใหญ่

ger staying
ที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว แบบ luxury ger

DAY 15: MONGOLIA

mongolia landscape
วิวชนบทของมองโกเลีย

เราเดินทางต่อไปยัง Gorkhi Terelj National Park ต้องยอมรับว่าภูมิประเทศของมองโกเลียช่วงฤดูร้อนสวยงามมากๆ เราไปดู Turtle Rock ซึ่งเป็นหินธรรมชาติที่รูปร่างเหมือนเต่า และเดินขึ้นไปบนวัด Ariyapala ซึ่งเป็นสถานปฏิบัติธรรม จะสังเกตว่าสัญลักษณ์ต่างๆ หรือการผูกผ้าหลากสี เริ่มมีความคล้ายคลึงกับทิเบตหรือภูฏาณ

Ariyapala Temple
Ariyapala Temple

ช่วงเย็นถือว่าเป็นไฮไลท์ของการมามองโกเลียของเรา เราได้เข้าไปสัมผัสชีวิตของชนเผ่าเร่ร่อน (nomad family) ด้วยการขี่ม้าจากที่พัก ไปยังหมู่บ้าน nomad family ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ได้เป็นที่อยู่ถาวร เค้าจะทำการย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆ เราได้เข้าไปดูการรีดนมม้าที่มีอยู่ที่นี่ที่เดียว ได้ดื่มนมม้าสดๆ และดูการทำโยเกิร์ตนมม้า

horse riding
ขี่ม้าจากที่พักไปหมู่บ้าน nomad family

ใน ger ที่อยู่อาศัยกันจริงๆ จะมีการจัดเรียงเหมือนกันหมดตามความเชื่อ โดยประตูเข้าออกจะหันไปทางทิศตะวันออก พอเข้าประตูมาด้านขวาจะเป็นอุปกรณ์ครัวและที่นอนของผู้หญิง โต๊ะเครื่องแป้ง  ส่วนทางซ้ายจะเป็นที่นอนและเครื่องมือต่างๆ ของผู้ชาย เช่น อุปกรณ์ล่าสัตว์ มีด ธนู และจอบเสียมต่างๆ ตรงกลางจะเป็นที่จุดไฟสำหรับประกอบอาหารและให้ความอบอุ่นในเวลากลางคืน

ger
ภายใน ger

เป็นธรรมเนียมประเพณี เวลามีคนมาเยี่ยมก็จะต้องมีอาหารทานเล่นมาต้อนรับ วันนี้เป็นแป้งทอด (คล้ายๆ ปาท่องโก๋) กับชีส ส่วนเครื่องดื่มที่อยู่ในโถเป็นเหมือนโยเกิร์ตที่หมักเองจากนมม้า

nomad family visit
ครอบครัวเผ่าเร่ร่อนนำของว่างมารับแขก

ที่พักของเราวันนี้เป็น ger แบบธรรมดา ไม่ได้หรูหราอะไร แต่วันนี้มีไฟฟ้าใน ger สามารถชาร์จแบตมือถือได้ และมีฮีตเตอร์ไฟฟ้าที่เราสามารถปรับอุณหภูมิได้เอง

ger staying
ที่พักของเราคืนนี้เป็นแบบ normal ger

DAY 16: ULAAN-BAATAR

Ulaan-Baatar Nature Run
Ulaan-Baatar Nature Run

เช้าวันสุดท้ายก่อนที่เราจะออกเดินทางกลับ ผมตื่นเช้าแล้ววิ่งจากที่พักตรงไปที่ Turtle Rock แล้ววิ่งกลับ ก็ได้เป็นระยะทาง 10K พอดี ครบถ้วนตามธรรมเนียมของวิ่งรอบโลก

ระหว่างทางกลับไกด์ได้อธิบายว่า ในมองโกเลียมีประชากรประมาณ 3 ล้านคน และ 90% อาศัยอยู่ในตัวเมือง Ulaan-Baatar ส่วนที่เหลือคือชนเผ่าเร่ร่อน ซึ่งจะย้ายถิ่นฐานทำกินไปเรื่อยๆ ส่วนใหญ่จะมีอาชีพเลี้ยงสัตว์… มองโกเลียเป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างขวางมาก แต่ไม่สามารถทำเกษตรกรรมได้เลย เพราะดินไม่มีแร่ธาตุ ต้องนำเข้าผักผลไม้จากจีน

 

driving back to the city
นั่งรถกลับตัวเมือง สองข้างทางเป็นธรรมชาติแบบเขียวสุดลูกหูลูกตา

ขากลับก่อนที่ไกด์จะพาเราไปส่งที่สนามบิน เราแวะทานข้าวและขึ้นมาชม Zaisan Monument เป็นอนุสาวรีย์บนเขาทางตอนใต้ของตัวเมือง Ulaan-Baatar เพื่อรำลึกถึงทหารมองโกเลียที่ไปรบร่วมกับทหารโซเวียตและเสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 2… บนนี้เราสามารถมองเห็นวิวมุมสูงของ Ulaan-Baatar ทั้งหมด

Zaisan Monument
Zaisan Monument

มาถึงตอนจบของทริปแล้ว ไกด์พาเรามาส่งที่สนามบิน Chinggis Khaan International Airport เป็นสนามบินที่ไม่ได้ใหญ่โตอะไร สำหรับประเทศเล็กๆ อย่างมองโกเลีย

Genghis Khan Airport in Ulaan-Baatar
Chinggis Khaan International Airport in Ulaan-Baatar
MNT money
เงินสกุล tögrög ของมองโกเลีย

ประมาณค่าใช้จ่ายโดยรวมทั้งหมดของเรากับการเที่ยว 16 วัน (ถ้าเป็นบริษัททัวร์ทั่วไปจะนับวันเดินทางไปกลับด้วย เป็น 18 วัน แต่เราไม่นับ) แบ่งเป็น

  • ค่าตั๋วเครื่องบินไปกลับ 24,000 บาทต่อคน
  • ค่าโรงแรม ตั๋วรถไฟ และค่าทัวร์ 26,400 บาทต่อคน
  • ค่าของกิน ขนม ร้านอาหาร ร้านกาแฟ พิพิธภัณฑ์ 10,000 บาทต่อคน
  • ค่าสมัครวิ่งมาราธอน 600 บาทต่อคน

รวมเป็นค่าใช้จ่าย 61,000 บาทต่อคน ซึ่งถ้าใครอยากจะถูกหรือแพงกว่านี้ก็ปรับเปลี่ยนเรื่องโรงแรมและการกินได้ ตัวเลขนี้มาจากการปัดเศษขึ้นให้เป็นเลขกลมๆ ของทุกรายการ (จริงๆ ถูกกว่านี้นิดหน่อย)

ผมได้จดค่าใช้จ่ายทุกอย่างไว้อย่างละเอียด แต่ขอให้คิดเสมอว่า การเที่ยวของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน บางคนให้ความสำคัญกับการบินสบายๆ แบบ business class บางคนอยากนอนโรงแรมห้าดาว บางคนอยากกินร้านติดดาวมิชลิน บางคนมีความสุขกับการเข้าไปจิบกาแฟในคาเฟ่ต่างๆ… ก็ลองไปปรับให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตัวเองดู

การออกเดินทางท่องเที่ยวไปเผชิญโลกกว้าง มันไม่เหมือนกับการทำโครงการให้เสร็จสิ้นภายใต้งบประมาณที่กำหนด เพราะสิ่งที่เราต้องการจากการท่องเที่ยวคือการได้ไปพบเจออะไรใหม่ๆ ที่เราไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้ ไม่เคยทาน ในชีวิตประจำวันทั่วไป ดังนั้นจงเผื่อเงินจำนวนหนึ่งไว้ลองอะไรใหม่ๆ ข้างหน้าที่เราจะเจอด้วย เพราะมันอาจจะเป็นโอกาสเดียวในชีวิตของคุณที่คุณจะได้ลองสิ่งนั้น รายจ่ายแบบละเอียดของพวกเราอยู่ในรูป spreadsheet ด้านล่างนี้ซึ่งแยกเป็น USD (จองไปก่อนเดินทาง), RUB (เงินสกุลรัสเซีย), และ MNT (เงินสกุลมองโกเลีย)

USD expense
ค่าใช้จ่าย USD
RUB expense
ค่าใช้จ่าย RUB
MNT expense
ค่าใช้จ่าย MNT

สำหรับคลิปวีดีโอของทริปนี้ทั้งหมดสามารถไปดูได้ที่เพจ #วิ่งรอบโลก นะครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *